จากรายงานภาวะเศรษฐกิจของแคนาดา ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่า GDP ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เหลือร้อยละ 2.5 จากเดิมร้อยละ 2.8 แม้ว่าในช่วงเดือนมกราคมจะพบการเติบโตเป็นอย่างมาก ทว่าในเดือนถัดมากลับพบการชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก ขณะเดียวกัน ด้านสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวเล็กน้อย โดยภาคบริการ เช่น การบิน และรถไฟ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ธนาคารแห่งแคนาดา (Bank of Canada: BoC) คาดว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยภาคเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของแคนาดา โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เติบโตช้าต่อเนื่องได้
ด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและการปรับใช้เทคโนโลยีของบริษัทในแคนาดา จากรายงาน Survey of Innovation and Business Strategy ปี 2022 ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา และ Statistics Canada พบว่า หลายบริษัทมีการแข่งขันด้านนวัตกรรมมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งบริษัทต่างชาติในแคนาดามีการใช้เทคโนโลยีมากกว่าบริษัทที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยคนในประเทศ
ขณะเดียวกัน ในรายงานยังได้ระบุถึงการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การค้า การจัดการ และภาคส่วนอื่น ๆ ภายในบริษัท นับเป็นโอกาสดีของไทยในการนำเสนอศักยภาพของประเทศในสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการในแคนาดา เช่น การเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการค้าเพื่อนำแรงงานที่มีความสามารถเข้าไปทำงานยังแคนาดา การจัด training program ในสาขาที่เกี่ยวข้อง และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการแคนาดาและไทย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศและเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทยในแคนาดา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นาย Rodrigo Malmierca Díaz เอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศแคนาดา ได้เข้าพบกับนาง Mary Simon ผู้ว่าการเมืองออตตาวา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยเน้นความร่วมมือทางการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาถือเป็นนักท่องหลักในประเทศคิวบา
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์