เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2567 นาย Karan Adani (Managing Director Adani Ports and Special Economic Zone Limited: APSEZ) ได้เข้าพบนาย Ferdinand R. Marcos Jr. ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เพื่อหารือกรณีบริษัท APSEZ มีโครงการที่จะพัฒนาท่าเรือน้ําลึกในฟิลิปปินส์ โดยบริษัทมีความสนใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาท่าเรือน้ําลึก Bataan ของฟิลิปปินส์ ให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ (Panamax) ได้ ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมภาคการส่งออกของฟิลิปปินส์ได้เป็นอย่างดี
บริษัท APSEZ เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของบริษัท Adani Enterprises ของนาย Gautam Adani หนึ่งในอภิมหาเศรษฐีของอินเดียและเอเชีย บริษัทฯ เป็นเจ้าของและ/หรือบริหารจัดการท่าเรือจํานวน 14 แห่งรอบชายฝั่งทะเลของอินเดีย (โดยเฉลี่ยทุกๆ 500 กิโลเมตรของชายฝั่งทะเลของอินเดีย จะมีท่าเรือของ APSEZ ตั้งอยู่ 1 ท่า) รวมถึงท่าเรือ Mundra ซึ่งเป็นท่าเรือที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียในรัฐคุชราต ทั้งนี้ คาดว่าร้อยละ 25 ของสินค้าที่ขนส่งทางเรือเข้าสู่อินเดียในปัจจุบันขนส่งผ่านท่าเรือของ APSEZ
นอกจากนี้ บริษัท APSEZ ยังเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือน้ําลึกที่เมือง Haifa ของอิสราเอล Colombo West Container Terminal ในศรีลังกา และ Abbott Point Terminal ในออสเตรเลียอีกด้วย และ บริษัท East Africa gateway Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท APSEZ ได้เข้าบริหารจัดการท่าเรือ Dar es Salaam ของแทนซาเนีย ถือเป็นท่าเรือในต่างประเทศแห่งที่ 4 ที่บริษัท APSEZ เข้าไปบริหารงาน
เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา บริษัท APSEZ ได้ลงนามใน MOU กับ MMC Port Holdings Sdn. Bhd. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ MMC Corporation Berhad (MMC) บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ของมาเลเซีย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือรองรับตู้คอนเทนเนอร์ที่เกาะ Carey โดยเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือ Klang ในรัฐ Selangor ของมาเลเซีย และในวันเดียวกันนั้น บริษัท APSEZ ยังได้ลงนามใน MOU อีกฉบับกับ MMC Port Holdings และ Sime Darby Property Berhad. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองใหม่บนเกาะ Carey เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่อีกด้วย
การที่อินเดียทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสําคัญกับการสร้างเครือข่ายท่าเรือสินค้าในภูมิภาค
เช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ราคาถูกและสามารถเข้าถึงประชาชนในประเทศได้อย่างทั่วถึง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียดําเนินอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของอินเดียในการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่านระเบียงเศรษฐกิจรูปแบบต่าง ๆ อาทิ India-Middle East-Europe Economic Corridor (IMEC) ที่เชื่อมโยงระหว่าง อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อิสราเอล เข้าสู่ยุโรปผ่านกรีซ เป็นต้น
การพัฒนาเครือข่ายท่าเรือทั้งในและนอกประเทศของอินเดีย นอกจากจะเพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีนัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย โดยท่าเรือที่อินเดียเข้าไปพัฒนาหรือบริหารงานนี้ เป็นเสมือนการคุมเชิง แข่งขัน หรือสอดส่องการขยายตัวของจีนในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากกรณี ของ (1) ท่าเรือน้ําลึก Sittwe ในพม่าที่ IPGL เข้าบริหารงาน ที่ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือน้ําลึก Kyaukphyu ที่จีนเป็นผู้สร้างและบริหารงานเพียง 120 กิโลเมตร (2) การเข้าพัฒนา Colombo West Container Terminal ในศรีลังกาของบริษัท Adani เพื่อแข่งขันกับ Colombo International Container Terminals ที่จีนเป็นผู้สร้าง และบริหารงานอยู่ในขณะนี้ หรือ (3) ท่าเรือ Shahid Beheshti ที่เมืองท่า Chabahar ของบริษัท IPGL ที่ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือ Gwadar ของจีนในปากีสถานเพียง 72 กิโลเมตรเท่านั้น
การที่บริษัท APSEZ ได้ลงนามใน MOU กับฝ่ายมาเลเซียเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือ และการสร้างเมืองใหม่บนเกาะ Carey ในรัฐ Selangor นั้น น่าจะเป็นการส่งสัญญานอย่างหนึ่งว่าบริษัท APSEZ ยังคงให้ความสําคัญกับการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ โดยปัจจัยส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวเนื่องกับแผนการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างท่าเรือของบริษัท APSEZ ในภูมิภาคเข้าด้วยกัน อาทิ ระหว่างท่าเรือเมือง Vizhinjam ทางตอนใต้ของอินเดียกับท่าเรือที่จะสร้างขึ้นบนเกาะ Carey ของมาเลเซีย
ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ไทยที่มีแผนที่จะพัฒนา Landbridge เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งและเป็นทางเลือกหนึ่งของการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาค และต้องการจะเชิญชวนบริษัทของอินเดีย (โดยเฉพาะ บริษัท APSEZ) ให้เข้ามาลงทุนในโครงการนี้ จะนําเสนอโครงการ Landbridge ในรูปแบบใด เพื่อโน้มน้าวให้ฝ่ายอินเดีย ตระหนักถึงประโยชน์และความสําคัญของโครงการนี้ที่มีต่ออินเดีย จนทําให้อินเดียต้องพิจารณารวมเอาโครงการ Landbridge ของไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางทะเลของอินเดียด้วย
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์