เมื่อ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงสูงสุดในรอบ 34 ปี นับแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 ที่ 160 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากกระแสขายเงินเยน/ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FRB) มีแนวโน้มจะยังคงนโยบายการเงินที่ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำ ที่ร้อยละ 0 – 0.1 ต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราเพิ่มขึ้นหรือไม่
กระแสความนิยมต่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เริ่มชะลอตัวลง เห็นได้จากยอดจำหน่ายในไตรมาส 1 ที่เริ่มชะลอตัว โดยเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความอิ่มตัวของผู้บริโภคในการซื้อรถ EV ที่มีราคาสูง Resale Value สถานีชาร์จ การซ่อมบำรุง ฯลฯ ยอดจำหน่ายรถ HEV ของโตโยต้าในปี พ.ศ. 2566 ได้ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถ HEV สะท้อนความพยายามของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น นำโดยโตโยต้าซึ่งสร้างทางเลือกสำหรับรถยนต์พลังงานสะอาดให้ผู้บริโภค
กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ได้จัดตั้ง Japan-ASEAN Decarbonization Consortium เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนที่จะขยายธุรกิจไปยังอาเซียนด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การจัดตั้งกลุ่ม Consortium เป็นส่วนหนึ่งของแผน Japan-ASEAN Midori Cooperation Plan (ยุทธศาสตร์ระบบอาหารสีเขียวสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ) ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยมีสมาชิก 45 องค์กร เช่น บริษัท Kubota บริษัท Yanmar กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ธนาคาร Norinchukin (ธนาคารกลางเพื่อการเกษตรและป่าไม้) กลุ่ม Consortium มีแผนร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านกลไกเครดิตร่วม JCM (Joint Crediting Mechanism)
MAFF ได้เริ่มโครงการ “ฉลาก 3 ดาว” รับรองสินค้าเกษตรที่ผลิตโดยใช้กระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยขณะนี้มีสินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการ 23 รายการ เช่น ข้าว ผักโขม แอปเปิล มันฝรั่ง จำแนกประเภทตามปริมาณที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (1 ดาว ลดร้อยละ 5 – 10 และ 2 ดาว ลดร้อยละ 10 – 20 และ 3 ดาว ลดมากกว่าร้อยละ 20) นอกจากนี้ Japan Atomic Energy Agency (JAEA) ประสบความสำเร็จในการทดลองความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์อุณหภูมิสูง (High Temperature Engineering
Test Reactor หรือ HTTR) โดยจะนำความร้อนที่ได้จากปฏิกิริยามาผลิตไฮโดรเจน เพื่อผลักดันเป้าหมายของ
รัฐบาลที่จะผลิตไฮโดรเจนได้ 12 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2040 โดยจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 1 ล้านล้านเยน
ตามที่ได้ระบุในแนวทางพื้นฐานการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transformation หรือ GX) ซึ่ง
รวมถึงงบประมาณจากพันธบัตรการเปลี่ยนผ่าน GX ด้วย เครื่อง HTTR มีความ ปลอดภัยสูง แม้จะผลิตปริมาณความร้อนได้น้อยกว่าเครื่องปฏิกรณ์ปกติ JAEA มีกำหนดยื่นขออนุมัติติดตั้งเครื่อง HTTR ที่โรงผลิตไฮโดรเจนในปีนี้และคาดว่าจะ สามารถเริ่มการทดลองผลิตได้เร็วสุดในปี ค.ศ. 2028
ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล automation & robotics ยาน Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) ประสบความสำเร็จในการเดินเครื่องและติดต่อสื่อสารกลับมายังโลกได้เป็นครั้งที่ 3 เมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 หลังจากที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2567 โดยสามารถทนทานต่ออุณหภูมิช่วงกลางคืนของดวงจันทร์ที่อยู่ต่ำระดับ -170 °C ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่ได้ออกแบบไว้ยาน SLIM พัฒนาโดยองค์การวิจัยและพัฒนาสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA มีความยาว 2 เมตร มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสาธิตการลงจอดอย่างแม่นยำบนดวงจันทร์บนพื้นที่เป้าหมายขนาดเล็ก (100 เมตร) ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 5 ต่อ จากสหภาพโซเวียต (ขณะนั้น) สหรัฐฯ จีน และอินเดีย ที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงสำรวจดวงจันทร์ และปฏิบัติภารกิจตามที่วางแผนไว้ได้
ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 มีชาวไทยเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นจำนวน 101,400 คน (รวมยอดประจำปี 2567 จำนวน 192,000 คน) ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทย 104,086 คน (รวมยอดประจำปี 2567 จำนวน 178,291 คน) จากผลสำรวจหลายสำนัก ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในอันดับ Top 5 สำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นแต่ไม่ติดอยู่ในอันดับ Top 3 ซึ่งได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ (ฮาวาย) และไต้หวัน ตามลำดับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นจะทดลองใช้ระบบตรวจคนเข้าเมืองแบบใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 เพื่อคัดกรองชาวต่างชาติก่อนออกเดินทางมายังญี่ปุ่น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายเข้าประเทศและลดความแออัดในระหว่างขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองโดยสายการบินจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์