‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ หรือ ‘Qingdao Oceantec Valley’ เป็นเขตนําร่องการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลระดับชาติแห่งแรกของจีน ตั้งขึ้นตามข้อริเริ่มในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 13 ของจีนเมื่อปี 2559 โดยปัจจุบัน Qingdao Oceantec Valley มีหน่วยงานวิจัยระดับชาติหลายแห่ง เช่น (1) ห้องทดลองในเขตเหลาซาน เมืองชิงต่าว โดยทำการวิจัยทางทะเลทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ มีสาขาวิจัย 5 แห่งทั่วโลก (2) ฐานทะเลลึกแห่งชาติ เป็นฐานสํารวจทะเลลึกแห่งที่ 5 ของโลก เสมือนเป็นยานแม่สำหรับการพัฒนา การสํารวจทรัพยากรทะเลลึกของจีน มีเทคโนโลยีเรือดำน้ำบรรทุกคนทะเลลึก “เจียวหลง” และเป็นท่าเรือขุดเจาะก๊าซธรรมชาติระดับโลก “ต้าหยาง” และ (3) สถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน เป็นฐานพัฒนางานวิจัยในด้านสมุทรศาสตร์ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุใต้ทะเล ตลอดจนการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาด้านสมุทรศาสตร์ ทั้งนี้ Qingdao Oceantec Valley มีเนื้อที่รวม 443 ตารางกิโลเมตร ห่างจากเทศบาลเมืองชิงต่าวประมาณ 40 กิโลเมตร เชื่อมกับรถไฟฟ้าสาย 11 ครอบคลุมพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดของเมืองชิงต่าว
นอกจากนี้ Qingdao Oceantec Valley มีภารกิจหลักในการดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย “3+2” โดย “3 ฟันเฟืองหลัก” ได้แก่
- อุตสาหกรรมบริการไฮเทคทางทะเล เน้นให้บริการด้านข้อมูลทางทะเล (เช่น Big Data, Supercomputer) เทคโนโลยีเฉพาะทางทะเล (เช่น บริการทางเทคโนโลยีการใช้พื้นที่ทะเล การตรวจสอบทางทะเล) เทคโนโลยีวิศวกรรมทางทะเล การส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและบ่มเพาะวิสาหกิจ โดยปัจจุบัน ได้ดึงดูดศูนย์วิจัยและวิสาหกิจที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางทะเลแห่งชาติ และ Dr. Peng Telecom Media Group
- อุตสาหกรรมชีวภาพทางทะเล พัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งยาทางทะเล อาหารบํารุงสุขภาพทางทะเล ผลิตภัณฑ์ชีวภาพทางทะเล สัตว์ทะเล และวัสดุใหม่ทางทะเล เร่งสร้างนิคมเทคโนโลยีชีวภาพนานาชาติ (International Blue Biological Valley) โดยปัจจุบัน มีโครงการขนาดใหญ่ เช่น ห้องทดลอง การวิจัยและประเมินคุณภาพยาจีนทางทะเลแห่งชาติ โครงการเทคโนโลยีชีวภาพ Beauty Valley และโครงการเภสัชกรรม Glycogene INC
ตัวอย่างโครงการเทคโนโลยีชีวภาพ Beauty Valley โครงการนี้มุ่งผลิตเครื่องสําอางกรดไฮ – ยาลูโรนิกชั้นสูงและอาหารบํารุงสุขภาพโดยมี Prof Ling เป็นบริษัทแรกที่เข้ามาทำการวิจัยและผลิตใน Beauty Valley ซึ่งเป็นบริษัทที่ชํานาญในการวิจัยและผลิตเครื่องสําอางกรดไฮยาลูโรนิก
โดยปัจจุบัน ได้มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและมียอดขายที่ดี โดยโครงการมีการลงทุนรวมประมาณ 5.5 พันล้านหยวน ครอบคลุมพื้นที่ 250,000 ตารางเมตร และพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 680,000 ตารางเมตร
เฟสแรก สร้างโรงงานมาตรฐาน 8 แห่ง สำหรับการผลิตเครื่องสําอางกรดไฮยาลูโรนิกระดับไฮเอนด์ และอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพและรอเปิดใช้งาน
เฟสที่สอง ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับไฮเอนด์ ทั้งนี้ กําลังอยู่ในช่วงการก่อสร้าง - อุตสาหกรรมวิศวกรรมทางทะเลชั้นสูง เน้นสร้างธุรกิจทางด้านอุปกรณ์เก็บข้อมูลทางทะเล อุปกรณ์การปฏิบัติใต้น้ำ ระบบเสริมและองค์ประกอบของเรือ อุปกรณ์การขนส่งทางทะเล พลังงานลมทางทะเล การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางทะเล และการใช้ประโยชน์จากน้ำทะเล
ตัวอย่างเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาดใหญ่ Guoxin No.1
เป็นเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาด 100,000 ตัน เพียงลำเดียวในโลกที่สร้างเสร็จและดําเนินงาน ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจจากแวดวงเพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างมากด้วยความก้าวหน้าในรูปแบบการเพาะเลี้ยงและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี รวมถึงการมีฟังก์ชันหุ่นยนต์ล้างกระชังที่สามารถแก้ไขปัญหาการล้างกระชังด้วยแรงคนในทะเลลึกด้วยเทคโนโลยี Cavitation water jet ที่ขจัดสาหร่ายทะเลและหอยต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ
ในด้านโอกาสทางตลาดเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงในทะเลลึก คาดว่าจะเพิ่มผลผลิตและกําไรในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงทางทะเลเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ราคาปลาจวดเหลืองป่า (Yellow Croaker) ในตลาดจีนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10,000 หยวนต่อกิโลกรัม หลังจากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงในทะเลลึกด้วยเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ Guoxin No.1 ทำให้ต้นทุนเพาะเลี้ยงลดลงมาที่ 120-160 หยวนต่อกิโลกรัม
และ “2 จุดเด่น” ได้แก่
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในหลากหลายมิติ ได้แก่ อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การคมนาคม การชมวิว การซื้อของและความบันเทิงโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย เช่น ภูเขา ทะเล ชายหาด เกาะ น้ำพุ และอ่าว มุ่งพัฒนาน้ำพุร้อนทางทะเล กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล งานแสดงและการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการโดยผสมผสานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
- ความเป็นฐานเศรษฐกิจทางทะเล มุ่งเน้นการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับทางทะเล และการจัดตั้งกองทุนและโครงการการเงินต่าง ๆ ตามข้อกําหนดจากนโยบายการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสำนักงานใหญ่ (Headquarters Economy) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลมณฑลซานตง
จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย “3+2” ดังกล่าว Qingdao Oceantec Valley ยังมีแผนการพัฒนาแบบคลัสเตอร์ “4+3” ที่ประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมข้อมูลทางทะเล นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพทางทะเล นิคมอุตสาหกรรมวิศวกรรมทางทะเลชั้นสูงถนนอ๋าวซานเว่ยและถนนเวินเฉวียนอีก 2 นิคม และ 3 แถบฟังก์ชัน ได้แก่ แถบพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าอ๋าวซานเว่ย แถบ CBD และแถบท่องเที่ยวทางทะเล
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์