เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 รัฐบาลเคนยาได้จัดงานเปิดตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4 ระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) หรือ Fourth Medium Term Plan (MTP IV) ภายใต้ Kenya Vision 2030 โดย MTP IV จะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก (Bottom-Up Economic Transformation Agenda – BETA) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของเคนยาเพื่อฟื้นฟูและผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) และผลักดันให้เคนยาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง
ทั้งนี้ MTP IV มุ่งเน้นพัฒนาใน 5 ภาคส่วน ได้แก่ (1) ภาคการเงินและการผลิต (2) ภาคโครงสร้างพื้นฐาน (3) ภาคสังคม (4) ภาคสิ่งแวดล้อม และ (5) ภาคการบริหารราชการ ซึ่งในแต่ละภาคส่วนจะมีแผนการดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ในเชิงรายละเอียด โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
การเกษตร
รัฐบาลเคนยามุ่งเน้นการส่งเสริมการแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยการปรับปรุงระบบการบริหารสหกรณ์ เพิ่มการเข้าถึงตลาด การสนับสนุนด้านการขนส่งบํารุง การขยายระบบชลประทาน การทำเกษตรที่ปรับเปลี่ยนต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate-Smart) การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร และการอุดหนุนปุ๋ยจำนวน 5.5 ล้านกระสอบ ปรับราคาปุ๋ยให้ถูกลงเหลือ 2,500 ชิลลิงเคนยา ต่อ 50 กิโลกรัม
การผลิต
รัฐบาลเคนยาจะเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิตผ่านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ชา ข้าว น้ำมันจากพืชและสัตว์ เศรษฐกิจภาคพื้นทะเล (Blue Economy) เหมืองแร่ ป่าไม้ การก่อสร้าง และการสร้างที่อยู่อาศัยในราคาเอื้อมถึง
การค้าและการลงทุน
รัฐบาลจะสร้างงานให้แก่ประชาชน โดยการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และพยายามเปิดตลาดการส่งออกที่หลากหลาย รวมถึงการสร้างโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเข้าถึงตลาด นอกจากนั้น จะเพิ่มเครดิตให้แก่การกู้ยืมเงินกองทุนสำหรับการค้ารายย่อย (Hustler Fund) ด้วย อีกทั้งจะดึงดูดการลงทุนในลักษณะ Public-Private Partnership (PPP) ให้มากขึ้น
การศึกษา
รัฐบาลจะจ้างครูชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพิ่มจำนวน 56,000 คน มีแผนขยายการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษา รวมทั้งจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งชาติ (National Open University) ที่ Konza Technopolis ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนกว่า 1,000 คนเข้ารับการศึกษา นอกจากนั้น ยังจะเพิ่มการเรียนการสอนแบบทางไกลและทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ National Centre for Innovation, Technology Transfer and Commercialization
โครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ การสร้างถนนยาว 6,000 กิโลเมตร การปรับปรุงและพัฒนาถนนระยะทาง 101,755 กิโลเมตร และการสร้างทางสะพานลอยหลายแห่ง นอกจากนั้น ยังลงทุนสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยในราคาเอื้อมถึงได้จำนวน 1 ล้านครัวเรือน การวางระบบจ่ายไฟแรงดันสูง 4,600 กิโลเมตร และการวางระบบ Fibre Optic ยาว 100,000 กิโลเมตร
สาธารณสุข
รัฐบาลได้ออกกฎหมาย Social Health Insurance ปี 2566 ส่งผลให้มีการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนผู้ป่วยเบื้องต้น กองทุนผู้ป่วยฉุกเฉินและเรื้อรัง และกองทุนประกันสังคมสุขภาพ ซึ่งมีแผนจะขยายให้ครอบคลุม 10.8 ล้านครัวเรือน รวมทั้งปรับระบบการให้บริการสาธารณสุขในรูปแบบดิจิทัล ปรับปรุงพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ และจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มกว่า 100,000 ราย
สิ่งแวดล้อม
รัฐบาลมีแผนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดแคมเปญ “Jaza Miti” ตั้งเป้าหมายในการปลูกต้นไม้จำนวน 15,000 ล้านต้น โดยได้สั่งการให้แต่ละ County ปลูกต้นไม้จำนวน 400-600 ล้านต้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาด้วย
เศรษฐกิจสร้างสรรค์
รัฐบาลเคนยายังคงส่งเสริมศิลปะ กีฬา และภาพยนตร์ รวมทั้งจัดตั้ง National Creative Economy Council เพื่อส่งเสริมศิลปินและพัฒนาทักษะเพื่อให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตมากขึ้น พร้อมที่จะเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) และการเป็นหมุดหมายในการถ่ายภาพยนตร์ของต่างชาติ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการจัดเทศกาลวัฒนธรรมและอาหาร การจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติต่าง ๆ (MICE) ด้วย โดย Bomas of Kenya และ Kenyatta International Conference Centre (KICC) จะได้รับการปรับปรุงให้เป็นศูนย์การประชุมที่ทันสมัย โรงแรม และสิ่งอํานวยความสะดวกเพื่อรองรับ MICE
ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลเคนยาประกาศวิสัยทัศน์ Vision 2030 ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะกลาง (MTP) 3 ฉบับแล้ว ได้แก่ (1) MTP I ปี 2551-2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์และกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังจากที่เกิดความรุนแรงหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2550 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้พลัดถิ่นในประเทศ (2) MTP II ปี 2556-2560 ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้ทันสมัย การเพิ่มความสำคัญของภาคการผลิต การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอยู่อาศัยของประชาชน (3) MTP III ปี 2561-2565 เป็นการสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจาก MTP 2 ฉบับก่อนหน้า เพื่อการพัฒนาที่มากขึ้น โดยแผน MTP ฉบับที่ 3 ได้ครบกำหนดเมื่อปี 2565
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์