นักช็อปตัวยงอย่างผู้บริโภคชาวฮ่องกงเริ่ม “เที่ยว และ ช็อปล้างแค้น” เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่หายไปในห้วงโรคระบาดโควิด-19 โดยที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวฮ่องกงจํานวนมากนิยมเดินทาง “ขึ้นเหนือ” ไปยัง เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เพื่อท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย และรับประทานอาหารในช่วงวันหยุด/สุดสัปดาห์ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะบริเวณห้างสรรพสินค้าที่ใกล้กับพรมแดนฮ่องกงอย่าง ย่าน Futian และ Luohu
กระแสในสื่อสังคมออนไลน์จีน Xiaohongshu เผยว่า เริ่มมีชาวฮ่องกงจํานวนไม่น้อย ใช้ชีวิตระหว่างสองเมือง โดยเช่าบ้านพักที่เซินเจิ้น แต่ทํางานหรือศึกษาในฮ่องกง เนื่องด้วยการเดินทางจากตัวเมืองฮ่องกงไปยังจุดผ่านแดนเพื่อข้ามไปยังเซินเจิ้นใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 1 ชั่วโมง
โดยปัจจัยหลักที่ดึงดูดชาวฮ่องกงให้นิยมเดินทางไปเซินเจิ้น คือ ราคาสินค้า บริการ และค่าเช่าบ้านพักของเซินเจิ้นที่ต่ํากว่าของฮ่องกงอย่างมาก ตลอดทั้งปัจจัยเรื่อง (1) อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงและสกุลเงินหยวนที่สร้างความได้เปรียบแก่ผู้บริโภคชาวฮ่องกง โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ถดถอย ส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่า (2) กําลังซื้อ (purchasing power) และ (3) นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของทางการเซินเจิ้น อาทิ มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT refund) ที่รับคืนเป็นเงินสดได้ทันทีที่ห้างสรรพสินค้า
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ความเชื่อมโยงทางระบบคมนาคมขนส่งที่แข็งแกร่งระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ยังมีส่วนสําคัญที่ส่งผลให้ชาวฮ่องกงนิยมเดินทางไปเซินเจิ้นมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน มีบริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสถานี Hong Kong West Kowloon ในฮ่องกงกับสถานีต่าง ๆ ในจีนทั้งหมด 73 แห่ง และครอบคลุมเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA ทั้งเซินเจิ้น ซึ่งกว่าน และกว่างโจว อีกทั้งยังสามารถเดินทางจากฮ่องกงไปยังเซินเจิ้น โดยผ่าน จุดผ่านแดนทางบก 5 จุด ซึ่งจุดผ่านแดน Lo Wu และ Lok Ma Chau เป็นจุดที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเชื่อมต่อโดยตรงกับสถานีรถไฟใต้ดินทั้งในฮ่องกงและเซินเจิ้น ซึ่งระบบคมนาคมดังกล่าวเป็นผลมาจากปี 2562 ที่รัฐบาลกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศ แผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area : GBA) ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ “One-hour Living Circle” ที่มุ่งพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้การเดินทางระหว่างเมืองภายในพื้นที่ GBA ต่ํากว่า 1 ชั่วโมง
นอกจากนั้น ความนิยมในการเดินทางไปเซินเจิ้นของชาวฮ่องกงที่มีมากขึ้น จึงเกิดเป็น “ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเทรนด์ใหม่” ที่เรียกว่า (1) “Reverse Shopping” หรือ การบริการอํานวยความสะดวกชาวฮ่องกงที่ประสงค์จะซื้อสินค้าต่าง ๆ ในเซินเจิ้น ซึ่งผิดกับอดีตที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะนิยมเดินทางข้ามมาฮ่องกงเพื่อกักตุนสินค้า โดยตัวแทนซื้อ (purchasing agent) ชาวจีนจะหาซื้อสินค้าตามคําสั่งซื้อและขนส่งข้ามพรมแดนไปยังฮ่องกง ภายใน 1 วัน และอีกหนึ่งธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กําลังเป็นที่นิยมในฮ่องกงเป็นอย่างมาก คือ (2) “บริการทัวร์ซูเปอร์มาร์เก็ต” ในราคาย่อมเยาว์ ที่บริษัททัวร์จะพาชาวฮ่องกงเดินทางไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าในเซินเจิ้น โดยสถานที่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต Sam’s Club ของบริษัท Walmart อีกทั้งล่าสุด ซูเปอร์มาร์เก็ต Costco ชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ประกาศเปิดสาขาใหญ่บริเวณพรมแดนเซินเจิ้นในเดือน มกราคม 2567 นี้ด้วย
ทั้งนี้ ความนิยมเดินทางไปเซินเจิ้นของผู้บริโภคชาวฮ่องกงอาจทําให้หลายคนมองว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวฮ่องกง แต่อย่างไรก็ดี ฮ่องกงยังมีจุดแข็งด้านเอกลักษณ์ ทางศิลปวัฒนธรรม อาหาร และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ยังคงทําให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลฮ่องกงที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
โดยในการแถลงนโยบายประจําปี 2566 ของผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง รัฐบาลฮ่องกงจะจัดทําแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮ่องกง 2.0 (Development Blueprint for Hong Kong’s Tourism Industry 2.0) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสําราญ รวมทั้งเร่งเสริมสร้างบูรณาการภายในพื้นที่ GBA ในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยฮ่องกงจะจัดงาน เทศกาล Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area Culture and Arts Festival ในปี 2567 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพื้นที่ GBA อีกด้วย
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ข้อมูล :
(1) ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองฮ่องกง
(2) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง