เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เปิดตัว “สถานีผลิตและเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากแอมโมเนียแบบครบวงจร” (มีชื่อภาษาจีนว่า สถานีบริการเจิ้นซิง/广西石油南宁振兴加能站) ที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์เป็นที่แรกในประเทศจีน
เจ้าหน้าที่ของ China Sinopec (中国石化) ให้ข้อมูลว่า China Sinopec เป็นผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนด้วยแอมโมเนีย โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของแอมโมเนียเป็นก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจน และนำก๊าซไฮโดรเจนไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้ตอบสนองความต้องการพลังงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ อีกทั้ง อุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนในตัวสถานีบริการ ใช้พื้นที่น้อยเพียง 80 ตารางเมตร แต่สามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในพื้นที่เมืองรอบข้างได้ด้วย (อย่างเช่นเมืองเป๋ยไห่ เมืองหลิ่วโจว) อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถถอดประกอบ ติดตั้ง และเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก
จากข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2566 จีนมียอดขายรถพลังงานไฮโดรเจนรวม 18,197 คัน รองจากเกาหลีใต้ (34,000 คัน) ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และมีสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 417 แห่ง ซึ่งมากที่สุดในโลก
สถานีบริการเจิ้นซิงในนครหนานหนิง สามารถทำการผลิตไฮโดรเจนได้ในตัวสถานี โดยปัจจุบัน มีกำลังการผลิตก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์สูงถึงร้อยละ 99.999 ในปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน (240 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง) ช่วยลดต้นทุนจากเดิมได้ร้อยละ 60 และที่สำคัญนั้น แอมโมเนียถือว่าเป็นพาหะทางเคมีของไฮโดรเจนที่สามารถจัดเก็บและขนส่งได้ง่าย สามารถเติมให้กับรถยนต์ได้อย่างสะดวก จึงนับเป็นก้าวสำคัญของสถานีการเติมไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์
ขณะที่บริบทประเทศไทยในขณะนี้ กำลังให้ความสนใจกับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ในภาคพลังงาน และการจัดตั้งคณะทำงานไฮโดนเจนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อพิจารณาเสนอแนะเป้าหมาย นโยบาย จัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน รวมถึงการจัดตั้งกลุ่ม Hydrogen Thailand เพื่อใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน เป็น “กุญแจ” สู่การความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
บีไอซี เชื่อว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงและ China Sinopec กว่างซีจะเป็นพันธมิตรสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่จะมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างกันในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยเฉพาะการผลิตไฮโดรเจนจากแอมโมเนีย ซึ่งมีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตไฮโดรเจนด้วยวิธีอื่น ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง รวมทั้งระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ แนวคิดการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของจีนเริ่มต้นในปี 2549 และเริ่มปรากฏชัดเจนในแนวทางการบริหารงานภาครัฐ หรือวาระแห่งชาติ ประจำปี 2562 โดยในรายงานดังกล่าวได้ระบุถึง “การส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน”และต่อมาในปี 2565 รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน ระยะกลาง-ระยะยาว” (ระหว่างปี 2564-2578) โดยมุ่งเป้าไปที่ภาคการคมนาคมขนส่ง ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้จีนเข้าใกล้ “เป้าหมายคาร์บอนคู่” โดยที่ผ่านมานั้น จีนประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนหลากหลายรูปแบบ อาทิ การผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าในกระบวนการแยกน้ำ) การผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติ (ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในกระบวนการผลิต) การผลิตไฮโดรเจนจากเมทานอล (สถานีผลิตและเติมไฮโดรเจนจากเมทานอลที่แรกในจีนอยู่ที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง) และการผลิตไฮโดรเจนจากแอมโมเนีย (ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
เรียบเรียง ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ที่มา :
- นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
และ นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง - https://thaibizchina.com/energy-technology-environment/%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%b4/
- ภาพประกอบ https://news.cctv.com