รู้หรือไม่? ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์ ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน
รายงานจากสมาคม Sustainable Production Alliance พบว่า ในการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 2,840 ตันสู่ชั้นบรรยากาศ และผลสำรวจของสถาบัน British Film Institute (BFI) ในปี 2563 ยังระบุอีกว่า สัดส่วนก๊าซคาร์บอนจากการถ่ายทำภาพยนตร์ในแต่ละครั้ง กว่า 51% จากการขนส่ง 34% เป็นการใช้พลังงาน และประมาณ 15% และการใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปั่นไฟ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการสร้างภาพยนตร์มาจากอะไรบ้าง? คำตอบ คือ การเดินทางของทีมงานเพื่อสำรวจสถานที่ถ่ายทำ การขนส่งนักแสดงและทีมงานไปแต่ละจุดถ่ายทำที่เป็นการก่อมลพิษทั้งทางบกและทางอากาศ การใช้กระดาษจำนวนมากในการปริ้นท์บทให้กับนักแสดง การสร้างอุปกรณ์ประกอบฉากที่ใช้ได้แค่ครั้งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากวัสดุที่มีส่วนประกอบของสารเคมีและย่อยสลายยาก การใช้เครื่องปั่นไฟและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นระยะเวลานาน ในบางกองถ่ายอาจจำเป็นต้องทำลายพื้นที่ทางธรรมชาติบางส่วนเพื่อสร้างสตูดิโอถ่ายทำขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอาหารเหลือทิ้ง (food waste) ของกองถ่ายจำนวนมาก
แล้ววงการภาพยนตร์รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบัน ผู้ผลิตภาพยนตร์หลายรายเริ่มพัฒนาและปรับกระบวนการถ่ายทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยนำเทคนิค การถ่ายทำเสมือนจริง (Virtual Production) ผสมผสานกันระหว่างการใช้เทคนิคทางกายภาพและการใช้กราฟฟิคแบบ real-time ควบคู่กันไป ซึ่งเทคนิคที่ว่านี้ถูกประยุกต์ใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ในภาพยนตร์เรื่อง Avatar จึงอาจเรียกได้ว่าเทคนิคดังกล่าวไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนทำให้การแสดงผลในจอภาพยนตร์นั้นสมจริงจนผู้ชมแยกไม่ออก
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ บางกองถ่ายยังได้ปรับวิธีการทำงานให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมแบบง่าย ๆ เช่น บริจาคอาหารให้กับผู้คนซึ่งอาศัยอยู่รอบ ๆ สถานที่ถ่ายทำ ใช้อุปกรณ์ประกอบฉากที่ทำจากวัสดุไม่ปนเปื้อนสารเคมีและย่อยสลายง่าย และจ้างผู้ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (eco-consultants) และเพื่อให้การถ่ายทำภาพยนตร์ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นอกจากนี้ ในปี 2553Producers Guild of America (PGA) องค์กรไม่แสวงหากำไรของกลุ่มผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ Sustainable Production Alliance (SPA) ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด อย่าง Disney Fox Corporation Netflix Sony Pictures Entertainment และ Warner Bros. ยังได้คิดค้นแนวทางในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ Green Production Guide (GPG) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของวงการภาพยนตร์ และสื่อออนไลน์อื่น ๆโดยผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Sony ได้วางแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตลอดทั้งการวงจรการผลิตและกิจกรรมอื่น ๆ ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593
สามารถอ่านบทความเต็มได้ที่ https://globthailand.com/InterEcon/InterEcon19/ – หน้า 20-21