Virtual Bank หรือ ธนาคารเสมือนจริง เป็นมิติใหม่ของการปรับตัวของธุรกิจภาคธนาคาร โดยแนวคิดของ Virtual Bank เกิดขึ้นในช่วงของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีโลกเสมือนและความต้องการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นิยาม Virtual Bank ว่าคือ ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีรูปแบบการให้บริการที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขาหรือ ตู้ ATM แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้ และ (2) ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน
นอกจากรูปแบบการให้บริการข้างต้น Virtual Bank ยังมีข้อแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมคือ การมีระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core Banking System) ที่มีศักยภาพและความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อระบบงานต่าง ๆ สูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม โดย Core Banking System ของ Virtual Bank ทำให้การจัดการเร็วขึ้น สามารถประมวลผลข้อมูลได้ทันที (Online Real-Time) วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้นำไปใช้ตัดสินใจทางธุรกิจได้เหมาะสมและทันสถานการณ์ และสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือรายงานย้อนหลังได้รวดเร็วขึ้น
จุดแข็งของ Virtual Bank คือ มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าทำให้ค่าบริการต่ำกว่า สะดวกในการใช้บริการเพราะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าทั้งทางตรงและทางอ้อมโดย เนื่องจาก (1) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง เช่น กระดาษ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (2) ไม่มีอาคารสำนักงานสาขา จึงใช้ไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ น้อยกว่า และ (3) ลดกิจกรรมหรือกระบวนการทำงานที่ปล่อยของเสีย เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปที่สาขาของผู้ใช้บริการ
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://globthailand.com/InterEcon/InterEcon19/ (หน้า 06-07)