เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง (Chief) ได้แถลงนโยบายประจำปี 2566 โดยนโยบายฯ มีสาระสำคัญมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของฮ่องกงอย่างรอบด้าน เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ผ่านการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ การพัฒนา “เศรษฐกิจสำนักงานใหญ่” (Headquarters Economy) หรือการดึงดูดธุรกิจต่างชาติให้เข้าไปจัดตั้งสำนักงานใหญ่หรือส่วนงานทางธุรกิจในฮ่องกง และการผ่อนปรนเงื่อนไขด้านการตรวจลงตราเพื่อดึงดูดธุรกิจและแรงงานต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในฮ่องกง
อีกทั้งยังได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บ(bunkering) พลังงานสีเขียว เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว กรีนเมทานอล ไฮโดรเจน และแอมโมเนีย เพื่อพัฒนาให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บพลังงานสีเขียวที่มีคุณภาพสูง รวมถึงเร่งพัฒนาให้ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงเป็นท่าอากาศยานสีเขียวที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำและทนทานต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงจัดทำแผนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวของเมืองฮ่องกงและกำหนดเป้าหมายให้ภาคการขนส่งสาธารณะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยจะจัดให้มีการบริการรถบัสพลังงานไฟฟ้าราว 700 คัน และรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้าราว 3,000 คัน ภายในสิ้นปี 2570
ทั้งนี้ ยังได้ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เตรียมการให้ฮ่องกงเป็นศูนย์ควบคุมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Centre for Medical Products Regulation) และสถาบันการทดลองทางคลินิกระหว่างประเทศในเขต GBA (Greater Bay Area International Clinical Trial Institute) พัฒนาคุณภาพของการบริการทางการแพทย์ เช่น พัฒนาระบบฐานข้อมูลทางการแพทย์ นําเข้าทันตแพทย์และพยาบาลจากต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนในฮ่องกง ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการแพทย์แผนจีน (Chinese Medicine Development Blueprint) พัฒนาระบบฐานข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีน และเตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางการแพทย์แผนจีนแห่งแรกในฮ่องกง
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน ส่งเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการปรับลดอัตราอากรแสตมป์ สำหรับการทำธุรกรรมหลักทรัพย์จากร้อยละ 0.13 เหลือร้อยละ 0.9 ของราคาซื้อขาย และส่งเสริมการเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์ (Mutual Market Access) ข้ามพรมแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ ขยายธุรกิจสกุลเงินหยวนนอกประเทศจีน (offshore Renminbi business) และความร่วมมือและการลงทุนภายในเขต GBA โดยเฉพาะในด้านการเงินสีเขียว
การค้า เร่งประชาสัมพันธ์โอกาสทางธุรกิจในฮ่องกงและขยายเครือข่ายทางเศรษฐกิจ และการค้าของฮ่องกงในต่างประเทศ ผ่านสำนักงานของ InvestHK และ HKTDC (Hong Kong Trade Development Council) เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่และกระชับความร่วมมือกับตลาดอาเซียนและตะวันออกกลางเพื่อดึงดูดธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจ SMEs โดยให้ความยืดหยุ่นในการชําระหนี้ ให้ความช่วยเหลือในการปรับตัวสู่ e-commerce การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล และให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก
การคมนาคมขนส่ง ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยการพัฒนาโลจิสติกส์สมัยใหม่ (Action Plan on Modern Logistics Development) เพื่อปรับภาคโลจิสติกส์ให้ทันสมัยและมีความยั่งยืน และประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาการเดินเรือและท่าเรือ (Action Plan on Maritime and Port Development Strategy) เพื่อพัฒนาการบริการเดินเรือและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเดินเรือภายในเขต GBA
นวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (New Industrialisation Development Office) และกองทุน New Industrialisation Acceleration Scheme มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในสาขาอุตสาหกรรมที่ตรงตามยุทธศาสตร์ของฮ่องกง ยกระดับภาคการผลิตและสนับสนุนธุรกิจ startups รวมทั้งจัดตั้งสถาบัน Hong Kong Microelectronics Research and Development Institute เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในสาขาไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และเร่งจัดตั้งศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์
การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จัดตั้งหน่วยงาน Cultural and Creative Industries Development Agency เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพิ่มเงินทุนสนับสนุนในกองทุน Film Development Fund และ CreateSmart Initiative จำนวน 4.3 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง และจัดตั้งกองทุน Signature Performing Arts Programme Scheme เพื่อส่งเสริมการจัดการแสดงขนาดใหญ่ที่จัดอย่างต่อเนื่องในฮ่องกง
ความสัมพันธ์กับไทย
ฮ่องกงยังคงให้ความสำคัญกับไทยในฐานะตลาดใหม่และมิตรประเทศที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยตลอดปี 2566 ฮ่องกงและไทยมีการผลักดันประเด็นความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ พลังงานสะอาด และการอํานวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดนผ่านหนังสือเดินทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ ฮ่องกงยังคงเป็นจุดหมายทางการค้าและการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจไทย และยังเป็นประตู (gateway) เชื่อมสู่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยฮ่องกงมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนในฮ่องกงผ่านการให้คำแนะนําของหน่วยงาน InvestHK และ HKTDC
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์