Digital Economy มีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คน Thumbsuo รายงานว่าในปี 2565 ผู้คนทั่วโลกใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มมากขึ้นถึง 48% และธุรกิจ E-commerce ทั่วโลกเติบโตขึ้น 10% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้บริโภคกว่า 57% สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน นอกจากนั้น มูลค่าการซื้อขายข้ามพรมแดนทางออนไลน์ (Cross-Border E-commerce : CBEC) เติบโตเฉลี่ย 28% ต่อปี ซึ่งการเติบโตของ E-commerce นี้ ทำให้เกิดความต้องการต่อบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น การจัดส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้นตามตัว
จากข้อห่วงกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ ธุรกิจ E-Commerce ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหนึ่งในแนวคิดเพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม คือ ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ซึ่งเป็นการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับการจัดการห่วงโซ่อุปทานในทุกขั้นตอนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การขนส่ง และการจัดการผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน
ระบบโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสีเขียวที่จะช่วยลดการสร้างมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสทางการค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเทรนด์ของโลกและช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระยะยาว
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการพัฒนาโลจิสติกส์สีเขียวด้วยวิธีการเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งสินค้า จากรถที่ใช้พลังงานน้ำมันมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้า EV ในการบรรทุกสินค้าบ้างแล้ว รวมถึงการนำโปรแกรม Territory Planner (TP) เข้ามาใช้ในการกำหนดเส้นทางการขนส่ง ซึ่งเป็นโปรแกรมในการคำนวณระยะทางการเดินรถมาเพื่อทำแผนที่เส้นทางการเดินรถ โดยสามารถเพิ่มสายรถเสริม ระบุจำนวนร้านค้าที่ต้องการ ทำการคำนวณออกมาเป็นรายวันหรือระยะทางรวมได้ และ ช่วยให้ลดระยะทางในการขนส่งได้ 5-20% อีกด้วย
สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ : https://globthailand.com/InterEcon/InterEcon19/ (หน้า 9-11)
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์