ไต้หวันมีประสบการณ์การผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) มากว่า 50 ปี และตั้งแต่ปี 2554 ไต้หวันเป็นผู้ผลิต PCB อับดับหนึ่งของโลก โดยอุตสาหกรรม PCB เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 2 ในไต้หวัน (รองจากเซมิคอนดักเตอร์) อีกทั้งจากสถิติในปี 2565 เผยว่า ไต้หวันยังคงครองแชมป์ผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 34.5 ตามมาด้วยจีน คิดเป็นร้อยละ 28.47 ทั้งนี้ การผลิต PCB ในจีนมากกว่าร้อยละ 60 เป็นการลงทุนจากไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม จากการเยือนไต้หวันของนาง Nancy Pelosi อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในปี 2565 ส่งผลให้สถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมีความตึงเครียดมากขึ้น และเพื่อที่จะลดความเสี่ยงจาก (1) ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา (2) ภาวะกดดันจากกลุ่มลูกค้าในประเทศตะวันตก เช่น apple และ intel และ (3) การรั่วไหลของเทคโนโลยีไปสู่จีน ไต้หวันจึงต้องเริ่มกระจายฐานการผลิต PCB ออกจากจีน
โดยกลุ่มประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของไต้หวันในการขยายการลงทุน คือ ประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากมีการลงทุนจากไต้หวันอย่างหนาแน่นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ (1) เวียดนาม กลุ่มอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบของโทรศัพท์มือถือ (2) มาเลเซีย กลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ (3) สิงคโปร์ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น wafer manufacturing (4) อินโดนีเซีย กลุ่มสิ่งทอ และ (5) ไทย กลุ่มอุตสาหกรรม PCB และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์
ปัจจัยอะไร? ที่ทำให้ไต้หวันเลือกมาลงทุนในไทย
และแน่นอนว่า การที่ไทยมีห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม PCB อย่างหนาแน่นอยู่ก่อนแล้ว และมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นข้อได้เปรียบจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย ดังนั้น ภาคเอกชน PCB ของไต้หวันจึงประสงค์ให้ไทยเป็นชัยภูมิการย้ายฐานการผลิต PCB จากจีนในครั้งนี้
นอกจากข้อได้เปรียบข้างต้นแล้ว ไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ (1) เสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากการตั้งฐานการผลิต PCB มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อน การที่ไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองจึงจะไม่เป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการต้องย้ายฐานการผลิตอีก (2) ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางการขนส่ง สนามบิน น้ำประปา และไฟฟ้า เป็นส่วนสำคัญของการสนับสนุนการผลิต PCB (3) ความพร้อมของ supply chain (ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก) ซึ่งการเข้ามาลงทุนของภาคเอกชนไต้หวันจะส่งผลให้ supply chain อื่น ๆ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน (4) ความพร้อมด้านบุคลากร ไทยมีประชากรวัยแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งภาคเอกชนไต้หวันประสงค์จ้างงานบุคลากรไทยให้ได้มากที่สุด (5) สภาพแวดล้อมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยการลงทุนด้าน PCB เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งฐานการผลิตในไทยจะเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของอุตสาหกรรม PCB ไต้หวันในต่างประเทศ และ (6) คุณภาพชีวิตด้านความเป็นอยู่อาศัยที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักลงทุนไต้หวัน
จากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผลให้บริษัท PCB ขนาดใหญ่ของไต้หวัน จำนวน 10 บริษัท ได้ย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในไทยแล้ว พร้อมประกาศการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 43,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่รวม 1,310 ไร่ และคาดว่าจะมีความต้องการจ้างงานคนไทยเพิ่ม 15,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิต raw material เช่น fiber glass yarn และ fiber glass fabric ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรในโรงงาน บริษัทที่ก่อสร้างโรงงาน PCB โดยเฉพาะ และบริษัทที่จัดทำระบบรีไซเคิลน้ำเสียและขยะอุตสาหกรรมสนใจเข้ามาลงทุนในไทยทั้งองคาพยพ
ปัญหาและอุปสรรคที่ภาคเอกชน PCB ไต้หวันพบเกี่ยวกับการลงทุนในไทย
อย่างไรก็ดี จากการเข้ามาลงทุนของภาคเอกชน PCB ไต้หวันในไทย ยังพบปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ (1) ด้านทรัพยากรบุคคล เช่น บุคลากรที่มีทักษะด้านวิศวกรรมมีจำนวนจํากัด รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านภาษาจีน (2) ด้านการดำเนินการและเอกสาร โดยการนําผู้บริหารจากไต้หวันเข้ามาในไทยยังประสบปัญหาความยุ่งยากด้านเอกสารและการทำ work permit (3) ด้านการสนับสนุนการลงทุนทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยไต้หวันต้องการให้ไทยสนับสนุนบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ supply chain ของอุตสาหกรรม PCB เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ไม่ได้เป็น target ของ BOI ไทยด้วย (4) ด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เนื่องจากไต้หวันยังมีความไม่มั่นใจต่อคุณภาพของผู้ประกอบการด้านการก่อสร้างและจัดทำระบบกําจัดของเสียของไทย ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่อคุณภาพสินค้าและสายพานการผลิตได้ จึงอยากให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้การส่งเสริมแก่บริษัทก่อสร้างโรงงาน PCB รวมถึงอุตสาหกรรมจัดทำระบบกําจัดของเสียของต่างชาติเพื่อเข้ามาลงทุนในไทยด้วย (5) ด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยที่น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความจําเป็นอย่างยิ่งของอุตสาหกรรม PCB แต่เป็นทรัพยากรที่ประเทศไทยมีจํากัด และเป็นทรัพยากรที่จําเป็นของภาคการเกษตรของไทย จึงอาจเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคต่ออุตสาหกรรม PCB ในอนาคต และ (6) ด้านกฎระเบียบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เช่น กฎระเบียบเรื่องพลังงานสีเขียวและการใช้พลังงานสีเขียวอย่างเพียงพอในภาคการผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกค้าในฝั่งตะวันตก
ความเคลื่อนไหวและพัฒนาการล่าสุด
โดยจากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ไต้หวันจึงได้ประสงค์หารือเรื่องความร่วมมือด้าน PCB กับไทยในรูปแบบ single contact เพิ่มเติม โดยมีความเร่งด่วนใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (2) การดูแล supply chain ของ PCB ทั้งองคาพยพ ซึ่งฝ่ายไต้หวันได้เสนอให้มีการประชุมครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว
…หากมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมอย่างไร globthailand จะมาอัพเดตต่อไปค่ะ…
ข้อมูล: สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์