เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ได้มีการจัดงาน WWF Future Food Together Conference ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Consumption and Production (SCP)” จัดโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) เยอรมนี ที่กล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากระบบการบริโภคอาหารของโลกในปัจจุบัน
เยอรมนีได้ตระหนักว่า การบริโภคที่มากเกินความจําเป็นจนเกิดอาหารเหลือทิ้ง (food waste) ทําให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน รัฐบาลเยอรมันจึงได้เริ่มดําเนินโครงการ Sustainable Consumption and Production (SCP) South-South เมื่อปี 2560 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ International Climate Initiative (IKI) ซึ่งได้มีการดําเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปารากวัย และโคลอมเบีย และเยอรมนีตั้งเป้าหมายที่จะลด food waste ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และเพิ่มสัดส่วนของ sustainable certified products ให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการดําเนินโครงการ SCP ในประเทศอื่น ๆ เช่น การทําฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-labeling) และ การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (sustainability public procurement) เป็นต้น
ทั้งนี้ WWF ได้ร่วมกับรัฐบาลเยอรมนีในโครงการ IKI ด้าน SCP South-South Transfer เน้นดําเนินการตามบริบทของแต่ละประเทศภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งเมื่อปี 2563 มีการจัดประชุม Global conference for sustainable food systems programme แบบ virtual ขึ้นครั้งแรกที่ไทย และล่าสุดปี 2566 จัดขึ้นที่เวียดนาม
สำหรับ WWF ประเทศไทย มีการดำเนินโครงการเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ําผ่านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Establish Low Carbon Consumption and Production in Thailand: WWF-SCP) มีระยะเวลาดําเนินตั้งแต่ปี 2561- 2564 โดยเริ่มแรกดําเนินการใน 3 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (SCP-TIP) โดยโครงการเน้นการขับเคลื่อนในระบบห่วงโซ่อุปทาน ข้าวโพดและการผลิตอาหารในภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมการปลูกพืชเกษตรที่หลากหลายจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) ไปสู่นิเวศเกษตร (Agroecology) หรือการทําการเกษตรแบบยั่งยืนบนหลักการของระบบนิเวศวิทยา
โดยกิจกรรมหลัก อาทิ The Forest Landscape Restoration Fund ร่วมกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จํากัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจังหวัดน่านและเชียงใหม่ และโครงการ “Eat Better กินดีกว่า” เพื่อสร้างวิถีการผลิตและบริโภคที่คํานึงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไทยได้รับเงินสนับสนุนดําเนินโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2565 เพื่อช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กัมพูชาต่อไปด้วย
นอกจากนี้ WWF ไทย ยังได้ดําเนินโครงการเพื่อเกษตรกรรายย่อยของไทย (Smallholder farmers) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีจํานวนมากที่สุดในประเทศที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยที่สุดในห่วงโซ่ การเกษตรกรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมทําการเกษตรต่อจนอาจนําไปสู่ Food insecurity ได้
WWF จึงมุ่งดําเนินโครงการเพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถมีรายได้ที่เหมาะสมและเพียงพอจากการทําเกษตร ได้แก่ (1) โครงการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการที่ประสบความสําเร็จในประเทศ และจัดตั้งเครือข่าย Organic agriculture (2) Market access ส่งเสริมการเข้าถึงตลาด โดยเริ่มจากตลาดท้องถิ่นและสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสินค้า และ (3) Policy advocacy เช่นการร่วมงานกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้นักวิชาการผลักดันนโยบายกับรัฐบาลด้วยข้อมูลจากงานวิจัย
การดําเนินโครงการและกิจกรรมของ WWF ไทยนั้นได้รับการยอมรับจากเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ SCP เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงการนํารูปแบบกิจกรรมของไทยไปประยุกต์ใช้ในประเทศตนเองด้วย เช่น การรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้มีความเข้มแข็ง และการดึงภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม ผู้ประกอบการไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหา food waste ได้โดยการพัฒนาแนวทางการทำธุรกิจให้มีความยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศได้อีกด้วย
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์