ความเป็นมาของกิจการอวกาศอินเดีย
อินเดียก่อตั้ง National Committee for Space Research (INCOSPAR) เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Indian Space Research Organisation (ISRO) และเพิ่มภารกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากนั้นในปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลได้ตั้งกรมกิจการอวกาศ (Department of Space: DOS) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี และได้นำ ISRO มาไว้ใต้การกำกับดูแลของ DOS โดย DOS และ ISRO มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองบังกาลอร์ รัฐกรณาฏกะ
ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2518 อินเดียสามารถสร้างดาวเทียมดวงแรก ‘Aryabhata’ ได้สำเร็จ (แต่ส่งออกโดยจรวดของโซเวียต) จนปี พ.ศ. 2522 สามารถส่งดาวเทียมด้วยจรวดที่สร้างด้วยตนเองได้ โดยในช่วงแรก อินเดียเน้นการพัฒนากิจการอวกาศเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเพื่อดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และต่อมาก็ได้ขยายไปสู่การสำรวจอวกาศ โดยได้ดำเนินภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ‘Chadrayaan-1’ และ ดาวอังคาร ‘Mangalayaan-1’ เมื่อปี พ.ศ. 2556 และ 2561 ตามลำดับ จนในปัจจุบัน อินเดียได้ก้าวจากการพัฒนากิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านกิจการอวกาศ และขยายขอบเขตไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
นโยบายอวกาศของอินเดีย
‘Indian Space Policy 2023’ จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดรับกับนโยบายการปฏิรูปกิจการอวกาศของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชน ในกิจการอวกาศอย่างครบวงจร โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้
(1) จัดตั้ง Indian National Space Promotion & Authorisation Centre (IN-SPACe) หน่วยงานอิสระของภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลกิจการอวกาศของอินเดีย เช่น (1) เป็นหน่วยงานรวมศูนย์สำหรับการอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมด้านอวกาศ (2) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์บ่มเพาะ ศูนย์ทางเทคนิค รวมทั้ง startups ด้านอวกาศ (3) ส่งเสริมให้อินเดียเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์/สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอวกาศชั้นนำของโลก ตลอดจนพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และออกข้อแนะนำสำหรับการใช้/ดำเนินกิจกรรมด้านอวกาศ
(2) บทบาทของหน่วยงานอื่น ๆ
- (2.1) Indian Space Research Organisation (ISRO) เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศใหม่ ๆ และสำหรับการสำรวจอวกาศ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือกับอุตสาหกรรมและนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศในด้าน R&D
ภารกิจสำคัญของ ISRO (ปัจจุบัน – ช่วง 3 ปีข้างหน้า)
ลำดับ | ชื่อ/เป้าหมาย | ภารกิจ/ความสำคัญ | กำหนดเวลา |
1 | Aditya-L1 ดวงอาทิตย์ | – ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ภารกิจแรกของอินเดีย – ส่งยานไปยังจุด L1 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร เพื่อศึกษาบรรยากาศของดวงอาทิตย์ในชั้น Chromosphere และ Corona และผลต่อสภาพอวกาศ อาทิ การเกิดลมสุริยะ | ส่งยานออกสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2566 |
2 | Gaganyaan นักบินอวกาศ โคจรรอบโลก | – ส่งนักบินอวกาศ 3 ราย โคจรรอบโลกที่วงโคจร ระดับต่ำ (Low-Earth Orbit) ระยะทาง 400 กิโลเมตร เป็นเวลา 3 วัน โดยเป็นภารกิจร่วมระหว่าง ISRO กับ Hindustan Aeronautics Limited (HAL) – เตรียมทดลองระบบ 2 ครั้ง โดยส่งยานไร้นักบิน แต่ มีหุ่น humanoid ‘Vyommitra’ ที่ออกแบบมาให้ดำเนินภารกิจต่าง ๆ ของนักบินอยู่ในยานด้วย | ทดลองระบบครั้งที่ 1 ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และทดลองครั้งที่ 2 ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2567 และส่งนักบินภายในปลายปี พ.ศ. 2567 |
3 | Shukrayaan-1 ดาวศุกร์ | – สำรวจพื้นผิว ชั้นบรรยากาศ และผลของพลังงาน จากดวงอาทิตย์ต่อดาวศุกร์ | ธันวาคม พ.ศ. 2567 หรือ ปี พ.ศ. 2574 (ปีสำรอง) |
4 | Mangalayaan-2ดาวอังคาร | – ติดตั้งอุปกรณ์ที่ปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อ ศึกษาธรณีวิทยาดาวอังคาร | ภายในปี พ.ศ. 2567 |
5 | SPADEX | – ทดสอบการเชื่อมต่อและการจอดเทียบท่าของ ยานอวกาศ (Space Docking Experiment) | ไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2567 |
6 | Space Stationสถานีอวกาศ | – มีแผนสร้างสถานีอวกาศ (Space Station) ของอินเดียเอง | ภายในปี พ.ศ. 2578 |
(2.2) Department of Space (DOS) ดูแลภาพรวมการปฏิบัติตามนโยบาย และเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินความร่วมมือด้านอวกาศกับต่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย
ความร่วมมือกับต่างประเทศ
(1) สหรัฐอเมริกา
- (1.1) NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar (NISAR) ลงนามความตกลงเมื่อปี พ.ศ. 2557 และมีกำหนดปล่อยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นดาวเทียมถ่ายภาพด้วยเรดาร์ที่จะส่งภาพถ่ายเปลือกโลกทุก 12 วัน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเล และน้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยประเมินความเสี่ยงการเกิดภัยธรรมชาติ
- (1.2) ในห้วงก่อนการเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีโมทีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 สองฝ่ายได้จัดตั้ง Working Group for Commercial Space Collaboration ภายใต้ Civil Space Joint Working Group และเพิ่มการหารือความร่วมมือด้านอวกาศภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางการทหาร
(2) ฝรั่งเศส
- (2.1) Thermal Infrared Imaging Satellite for High-resolution Natural resource Assessment (TRISHNA) ภารกิจศึกษาพื้นผิวโลก โดยอินเดียรับผิดชอบการสร้างแพลตฟอร์มของดาวเทียม และส่วน infrared คลื่นสั้น ในขณะที่ฝรั่งเศสรับผิดชอบส่วน thermal infrared ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Airbus
- (2.2) มีความร่วมมือในสาขานี้มากว่า 6 ทศวรรษ ครอบคลุมทั้งการติดตามสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสำรวจอวกาศ โดยล่าสุดได้จัดประชุม Strategic Space Dialogue ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
(3) ญี่ปุ่น
‘LUPEX’ หรือ ‘Chandrayaan-4’ ภารกิจสำรวจแหล่งน้ำบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยอินเดียรับผิดชอบยานลงจอด ส่วนญี่ปุ่นรับผิดชอบจรวดปล่อยยานและยานสำรวจ คาดว่าจะปล่อยในปี พ.ศ. 2568
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์