เป็นอย่างไรกันบ้าง หลังจากได้อ่านแนวทางการต่อยอดธุรกิจในเดนมาร์กกันไปถึง 3 ตอน ในตอนสุดท้ายนี้ จะเป็นโอกาสการประกอบธุรกิจและข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นตามไปอ่านกันได้เลย
แนวโน้มการบริโภคสินค้าในเดนมาร์ก จากผลสำรวจความคิดเห็นและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคชาวเดนมาร์กในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ที่จัดทำโดย Danish Agriculture & Food Council (DAFC) พบว่า ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่ตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงต้องการเน้นการบริโภคสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับการลดการใช้ถุงพลาสติก การลดปริมาณเศษอาหารให้เหลือน้อยที่สุด การลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์รวมทั้งการปรับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและพลังงาน ซึ่งผลสำรวจได้รายงานว่า ชาวเดนมาร์กกว่าร้อยละ 95 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือเต็มใจที่จะปรับพฤติกรรมเพื่อสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ดังนั้น สินค้าที่น่าจะตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคชาวเดนมาร์กและดีต่อโลกตามแนวโน้มอุตสาหกรรมจึงเป็น “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)”
จากการสำรวจสินค้าในตลาดซุปเปอร์มาร์เกตของเดนมาร์ก พบว่า มีสินค้าไทยที่วางจำหน่ายและสามารถส่งออกมายังเดนมาร์ก ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่ง สำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานแบบแช่แข็ง อาหารที่ทำมาจากโปรตีนทางเลือกหรือ plant-based food อาหารแห่งอนาคต เช่น novel food หรืออาหารจำพวกแมลง สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล็ดธัญพืช เช่น ซีเรียลข้าวกล้องงอก เครื่องดื่มสมุนไพร และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เช่น หนังปลาทอดกรอบ สาหร่ายอบกรอบ และขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากปลาและกุ้ง เนื่องจากยังไม่มีคู่แข่งในตลาดมากนัก อย่างไรก็ดี หีบห่อที่ใช้ในการบรรจุสินค้าควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ และควรบรรจุสินค้าให้มีปริมาณที่พอดีกับหนึ่งมื้ออาหาร ซึ่งจะสร้างความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคชาวเดนมาร์กและ EU ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนข้าวสาลีได้ เช่น ซีเรียลข้าวกล้องงอก และอาหารปลอดกลูเต็น (Gluten free diet) น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในช่วงที่ตลาดโลกกำลังขาดแคลนสินค้าประเภทข้าวสาลี และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งและผลไม้อบแห้ง (Freeze dry) ก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เนื่องจากมีสารอาหารครบถ้วน น้ำหนักเบา ไม่ใช้พื้นที่ในการขนส่งมากนักและสามารถเก็บไว้ได้นาน ตัวอย่างของสินค้าอุปโภคเพื่อสุขภาพในเดนมาร์กที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่งทางการค้าและมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นในอนาคต ได้แก่ สินค้าอุปโภคที่มีรสหวานโดยไม่ใส่น้ำตาลของบริษัท EASIS ซึ่งนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและต้องการลดการบริโภคน้ำตาล
สิ่งที่ควรคำนึงในการส่งออกสินค้ามายังเดนมาร์ก
กฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้า สารปนเปื้อน และสารตกค้าง ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ต่าง ๆ เช่น EU General Food Safety (https://food.ec.europa.eu/index_en) ข้อมูลเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืช และสารตกค้าง (https://food.ec.europa.eu/plants/pesticides/eu-pesticides-database_en กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (https://trade.ec.europa.eu/access-to-markets/en/content/guide-import-goods)
เอกสารรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ EU ว่าสินค้านั้นปลอดภัยได้มาตรฐาน ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์สินค้า เช่น ตรารับรองเครื่องหมายเกษตรอินทรีย์จาก EU หรือ เดนมาร์ก เครื่องหมาย MSC รับรองการทำประมงอย่างยั่งยืน และเครื่องหมาย ASC รับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างยั่งยืน และอื่น ๆ
เครื่องหมายตรารับรองสินค้าต่างๆ
EU Organic Logo
https://agriculture.ec.europa.eu/farming/organic-farming_en
Denmark’s Organic Logo
https://en.fvm.dk/focus-on/organic-denmark/
เครื่องหมาย MSC (Marine Stewardship Council) รับรองการทำประมงอย่างยั่งยืน (sustainable wild fish/shellfish) ซึ่งใช้ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก www.msc.org
เครื่องหมาย ASC (Aquaculture Stewardship Council) รับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน (sustainable fish/shellfish farming) ซึ่งใช้ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก www.asc-aqua.org
เครื่องหมาย Keyhole Label สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นอาหารที่มี ไขมัน น้ำตาลและเกลือน้อยกว่า และมีใยอาหารมากกว่าผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเดียวกันที่ ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว
เครื่องหมาย Fairtrade เป็นเครื่องหมายสากลสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายใต้เงื่อนไข การค้าและแรงงานที่ยั่งยืน ตามแนวคิดคือผู้ผลิตสินค้าจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมและ มีเงื่อนไขแรงงานที่ดี
เครื่องหมาย Halal สำหรับสินค้าที่ผลิตตามกฎเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ชาวมุสลิม รับประทานได้
เครื่องหมาย FSC (Forest Stewardship Council) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์หรือป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างมีความรับผิดชอบ https://fsc.org/en
ตราสัญลักษณ์ EU-Eco Label สำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (ยกเว้น เครื่องดื่มและ อาหาร) เช่น แชมพู ครีมนวด สบู่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซึ่งมีการผลิตและได้รับ การรับรองแล้วว่ามีวงจรชีวิต (Life Cycle) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตราสัญลักษณ์ The Blue Wreath Label จัดทำขึ้นโดยองค์กร Astma-Allergi Danmark สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์ทำ ความสะอาดที่ไม่มีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
กระแสความนิยมในการบริโภคสินค้าที่มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนกลายเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มของการบริโภคสินค้าในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคส่วนหนึ่งได้หันมาบริโภคสินค้าท้องถิ่นเนื่องจากความต้องการที่จะช่วย ลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคการขนส่ง การใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลาสติกอาจสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น การพัฒนารูปแบบสินค้า เช่น หีบห่อบรรจุภัณฑ์ และขนาด/ปริมาณสินค้า ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศนอร์ดิกนิยมรับประทานข้าวเป็นครั้งคราว ซึ่งขนาดบรรจุสินค้าที่ ได้รับความนิยมในตลาดคือ 1 กิโลกรัม และการให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าวัน เดือน ปีที่ผลิตสินค้า และวันหมดอายุนั้นมีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์/สินค้าของผู้บริโภค
อ่านครบมาถึง 4 ตอน เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายคนอาจได้แนวทางไปปรับใช้ในการผลิตไม่มากก็น้อย globthailand หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชี้ช่องให้ผู้ประกอบการหลายท่านเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจในเดนมาร์กต่อไปในอนาคต
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์