ผ่านไปสองตอนแล้วสำหรับการศึกษาโอกาสทางการค้าไทยในเดนมาร์ก ในตอนนี้เราจะมาเจาะลึกในด้านของเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารกันบ้าง ซึ่งแนวโน้มสินค้าไทยในตลาดเดนมาร์กจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันต่อได้เลย
ชาวเดนมาร์กให้ความสนใจกับสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เน้นเกษตรอินทรีย์ (organic) ใส่ใจ ต่อสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และอาหารมีปริมาณน้ำตาลน้อย นอกจากนี้ สินค้าที่ส่งออกควรเป็นสินค้าที่ดำเนินการตามกฎระเบียบของ EU โดยผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับกฎระเบียบต่าง ๆ และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงสารปนเปื้อน จากการสำรวจตลาดในเดนมาร์กพบว่า ตลาดเดนมาร์กยังมีศักยภาพสำหรับสินค้าประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- สินค้าประเภทเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ น้ำผลไม้รสชาติต่าง ๆ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำทับทิม น้ำสับปะรด และน้ำมะม่วง นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาว เดนมาร์กให้ความนิยมกับเครื่องดื่มน้ำโซดาที่ผสมรสชาติผลไม้ต่าง ๆ ด้วย
- สินค้าประเภท novel food ได้แก่ แมลงทอดชนิดต่าง ๆ ตามข้อมูลตลาดแมลงในเดนมาร์กถือเป็นสินค้าใหม่และยังไม่มีการวางขายแพร่หลายในตลาดมากนัก ดังนั้น การนำเข้าผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศนอร์ดิกจะเป็นไปตามกฎหมายของ EU ว่าด้วยอาหารและสัตว์ (EU legislation on the food and veterinary area) ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามระเบียบของ EU Novel Food Regulation
- สินค้าได้รับการอนุมัติใน EU ให้วางขายในตลาดอาหารของเดนมาร์กได้ภายใต้มาตรการระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional measures) ได้แก่ หนอนนก (Tenebrio molitor) ตั๊กแตน (Locusta migatoria) จิ้งหรีดบ้าน (Gryllodes sigillatus) จิ้งหรีด ทองแดงลาย (Acheta domesticus) ด้วง (Alphitobius diaperinus) และหนอนแมลงวันลาย (Hermetia illucens)
- ส่วนแบ่งของตลาดแมลงที่รับประทานได้ ตามรายงานของ Global Market Insights ตลาดแมลงที่รับประทานได้ (edible insects) ของเดนมาร์กจะเติบโตขึ้นร้อยละ 47 ในช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2569 โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในอเมริกาเหนือและยุโรป ผู้ประกอบการแมลงของเดนมาร์กที่สำคัญ ได้แก่ บ. Enorm Biofactory ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลนวัตกรรม first moving approach ด้านอาหารในปี พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ เดนมาร์กยังมีบริษัทที่นำแมลง มาทำเป็นอาหารทานเล่น เช่น แมลงอบกรอบ ผลิตภัณฑ์แป้งจากแมลง แมลงโปรตีนบาร์ ลูกอมแมลง และแมลง เคลือบชอคโกแลต เป็นต้น ซึ่งได้จำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์หรือตามซุปเปอร์มาร์เกตบางแห่ง ได้แก่ บ. Insektprotein บ. Din Insekt Butik บ. Spiselige-Insekter.dk และ บ. Bugging Denmark เป็นต้น
- สินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ โดยข้อมูลจาก FiBLและ Nordic Council of Ministers 2019 รายงานว่า ในปี พ.ศ 2562 แบ่งเป็นประเภท ผักและผลไม้ (9.8 พันล้านบาท) ธัญพืช 2.72 พันล้านบาท) และอาหารสัตว์ (2.12 พันล้านบาท) สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดในเดนมาร์ก ได้แก่ โยเกิร์ตธรรมชาติ แครอท ข้าวโอ๊ต กล้วย นม ส้ม ไข่ เส้นพาสต้า และแป้ง ส่วนสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อวัว แฮมและไส้กรอก (Cold cut meat and poultry) เนื้อสุกร และเนื้อไก่ ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าไทยที่น่าจะมีศักยภาพในตลาดเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อสัตว์แปร รูป ปลาและอาหารทะเล ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป
- สินค้าสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เดนมาร์กเป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตยาและ เวชภัณฑ์ระดับโลก แต่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าสมุนไพรเกือบทั้งหมดเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการ เพาะปลูกสมุนไพร โดยในปี พ.ศ. 2564 เดนมาร์กได้นำเข้าสินค้าสมุนไพร ได้แก่ กระวาน อบเชย กานพลู เมล็ดผักชี เมล็ดยี่หร่า ขมิ้นชัน พริกแห้ง ขิงแห้ง จันทน์เทศ พริกไทย ไธม์ และวานิลา ในขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสมุนไพร ลำดับที่ 86 ของเดนมาร์ก
- สินค้ากลุ่มปลาและอาหารทะเล เดนมาร์กนิยมสินค้าประเภทปลาและอาหารทะเลของไทยในการประกอบอาหาร ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งชุบแป้งทอดแช่ แข็งกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และปูอัดแช่แข็ง ซึ่งนำเข้าภายใต้แบรนด์ของผู้ผลิตและการสั่งผลิตภายใต้แบรนด์ของผู้นำเข้าหรือผู้ค้าปลีก และผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีก mainstream รายใหญ่ของเดนมาร์ก นอกจากนี้ เดนมาร์กเป็นผู้ส่งออกปลาป่นรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปลารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของวัตถุดิบจากปลาและอาหารทะเลสำหรับนำมาแปรรูปเพิ่มเติมแล้วส่งออกต่อไปด้วย
โอกาสการค้าของไทยในเดนมาร์กยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในตอนต่อไปเราจะมาศึกษาโอกาสในการประกอบธุรกิจกันบ้าง ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไร โปรดติดตาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์