จากเมื่อวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 กลุ่มวิจัยขั้นแนวหน้าการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage Frontier Research Group: CCS) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายพันธมิตรได้เดินทางไปศึกษาดูงานการวิจัยการใช้ประโยชน์จากก๊าซ CO2 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดนมาร์ก (Technical University of Denmark: DTU) และที่สำนักงานของโครงการ Greensand โดยบริษัท INEOS Energy Denmark ซึ่งเป็นโครงการกักเก็บก๊าซ CO2 ไว้ในบ่อขุดน้ำมันเก่าใต้พื้นทะเลเหนือ หรือที่เรียกว่า “สุสานคาร์บอน” (CO2 graveyard) นั้น ทางคณะฯ เล็งเห็นว่า ทั้งไทยและเดนมาร์กควรมีการต่อยอดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยกับ DTU และโครงการ Greensand ได้แก่ (1) การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษาร่วมกัน (2) การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เรื่อง CCS ให้กับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ หัวหน้ากลุ่มวิจัย CCS มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นว่า ไทยมีศักยภาพเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซ CO2 ในภูมิภาค หากไทยประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลาง (hub) และผู้นำของอาเซียนในด้าน CCS ไทยควรเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของโครงการ Greensand ในการแปลงสภาพก๊าซ CO2 ให้อยู่ในรูปของเหลว รวมถึงวิธีการจัดเก็บและขนส่งก๊าซ CO2 ในสภาพของเหลวข้ามพรมแดน และนำวิธีการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย เช่น การประยุกต์ใช้กับแหล่งน้ำมันเก่า onshore ที่จังหวัดพิษณุโลก ทั้งในเรื่อง capacity และกำลังคน
ด้านรองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้แสดงความเห็นว่า ไทยควรจัดตั้ง national consortium ในลักษณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ภาครัฐสนับสนุนงานด้านวิจัย (Public-Private-Partnership: PPP) สำหรับการดำเนินการด้าน CCS ดังกล่าว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ได้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาปริมาณความจุของแอ่งแม่เมาะในการกักเก็บก๊าซ CO2
อีกทั้งผู้แทนบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ แสดงความเห็นว่า บริษัทได้ตั้งหน่วย CCU ขึ้นมาเพื่อกักเก็บก๊าซ CO2 ไว้ต่อยอดและใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี ในบริบทของไทยนั้น เครื่องมือสำหรับการดักจับก๊าซ CO2 ยังมีราคาสูง ดังนั้นไทยจึงควรเรียนรู้จากเดนมาร์กในเรื่องของเครื่องมือ quantum calculation ที่มีความเร็วสูง เพื่อนำมาต่อยอดในการดักจับและกักเก็บ (storage)
นอกจากนี้ หน่วยงานไทยเล็งเห็นว่า ควรจะมีการต่อยอดการศึกษาดูงานในครั้งนี้ โดยการดำเนินโครงการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการเชิญวิทยากรจากโครงการ Greensand และ DTU ไปบรรยายให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน CCS แก่นักวิจัยและบุคลากรไทยต่อไป
…ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ (globthailand) จะนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของเดนมาร์ก เช่น ศูนย์วิจัยทรัพยากรพลังงานและวิศวกรรมพลังงาน (CERE) และการดักจับคาร์บอนต้นทุนต่ำ โปรดติดตามในตอนที่ 2
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์