เดนมาร์กมีประชากรประมาณ 6 ล้านคน มีกรุงโคเปนเฮเกนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จากรายงาน Doing Business ของ World Bank ฉบับล่าสุด (2563) เดนมาร์กถูกจัดให้เป็นประเทศที่เหมาะแก่การลงทุนทำธุรกิจอันดับที่ 4 ของโลก และอันดับที่ 1 ของยุโรป และเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุดในโลก จากการจัดอันดับ World Competitiveness Ranking ในปี 2565 โดย IMD World Competitiveness Center ด้วยข้อได้เปรียบด้านกฎระเบียบ สภาพแวดล้อมและความโปร่งใสทางธุรกิจ
ภาพรวมเศรษฐกิจเดนมาร์ก
เศรษฐกิจเดนมาร์กในครึ่งแรกของปี 2566 เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย GDP เพิ่มขึ้น 0.6% (เติบโตติดต่อกัน 4 ไตรมาส) โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมยาที่เพิ่มขึ้น 15% ในไตรมาส 1 และผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Novo Nordisk และ Mærsk และบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากทะเลเหนือ
เดนมาร์กเป็นประเทศอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่ม (industrialized value-added country) พึ่งพาวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยปี 2564 นำเข้าสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักร (ไม่รวมอุปกรณ์ขนส่ง) 24.2% ผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Manufactured Articles) 17.8% สัตว์มีชีวิต อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 13.8% และสินค้าและสิ่งของจากการผลิต (Manufactured goods and articles) 13.6% ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปมายังเดนมาร์ก นอกจากนี้ เดนมาร์กยังเป็นจุดกระจายสินค้าที่ดีสำหรับตลาดสแกนดิเนเวีย ยุโรปเหนือ และบอลติก
การค้า-การลงทุนระหว่างไทยกับเดนมาร์ก
ในปี 2565 การค้าไทย-เดนมาร์กมีมูลค่า 804.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มากที่สุดของการค้าระหว่างเดนมาร์กกับกลุ่มประเทศอาเซียน สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว ของใช้ในบ้าน โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้า สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (หนังเฟอร์ดิบ หัว หาง อุ้งเท้า และชิ้นหรือส่วนตัดอื่น ๆ สําหรับใช้ในกิจการหนังเฟอร์) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
ด้านการลงทุน บริษัทชั้นนำของเดนมาร์กหลายแห่งเลือกไทยเป็นฐานการผลิต จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งและความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่มาหลายทศวรรษ เช่น Pandora, Royal Copenhagen, George Jensen, Ecco, Danfoss, Grundfos, Maersk, Kvik Furniture และ M2 Animation มีบริษัทเดนมาร์ก 2 บริษัทที่ลงทุนใน EEC ได้แก่ Mountain Top (Thailand) ผู้ผลิต aluminium roll cover สำหรับรถกระบะ และ LINAK APAC (ลิ นัก เอแพค) ผู้ผลิต electric linear actuator solutions สำหรับหลากหลายอุตสาหกรรมต่าง นอกจากนี้เพื่อพัฒนาโครงการพลังงาน มุ่งเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2060
จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจของบริษัทเดนมาร์กมีความสำคัญโดดเด่นในไทย ช่วยสร้างงานให้คนไทยมากกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง นอกจากนี้ หอการค้าไทย – เดนมาร์ก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 บริษัทและถือเป็นหอการค้าเดนมาร์กที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในทางกลับกัน บริษัทชั้นนำของไทยได้ไปลงทุนในเดนมาร์ก เช่น เครือเซ็นทรัล การบินไทย CPF ร้านอาหารไทย Blue Elephant และ Indorama ซึ่งประกอบการทางด้านพลาสติก เป็นต้น
ในตอนหน้า globthailand จะไปศึกษาแนวทางต่อยอดธุรกิจจากโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะข้อมูลที่น่าสนใจอย่างไร โปรดติดตามตอนหน้า
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์