ทางการแคนาดาได้เรียกร้องให้ห้างค้าปลีกรายใหญ่จัดทำแผนดำเนินการ P2 Notice เพื่อลดขยะพลาสติกโดยเร็ว หลังจากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมพบว่า ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศยังสูง โดยชาวแคนาดาทิ้งขยะพลาสติก 4.4 ล้านตัน/ปี แต่มีการนำมารีไซเคิลเพียง 9% และยังพบด้วยว่า ขยะพลาสติกกลุ่มอาหารมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด แม้ว่าแคนาดาจะมีโนบายสั่งห้ามจำหน่ายพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic) ได้มาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม
นาย Steven Guilbeault รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดากล่าวว่า ทางการกำลังหารือกับภาคเอกชนค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ Loblaws, Walmart และ Costco ให้มีบทบาทมากขึ้น มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาขยะพลาสติกและหาวิธีต่าง ๆ ที่จะลดขยะพลาสติก
รัฐบาลขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าเลิกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ให้มากที่สุด เช่น ขวดเครื่องปรุง อาหารทารกบรรจุซอง ถุงขนม กล่องพลาสติกแบบแคลมเชลล์ ถุงนม ฟิล์มห่ออาหาร เป็นต้น โดยขณะนี้ทางการยังอนุญาตให้ใช้ได้อยู่ แต่จะพยายามผลักดันให้ลดปริมาณการใช้ลงเรื่อย ๆ จนมีผลบังคับในที่สุด เช่น ผักและผลไม้สดอย่างน้อย 75% ต้องปราศจากหีบห่อพลาสติกภายในปี 2026 และภายในปี 2030 ห้างค้าปลีกจะต้องมีแผนจำหน่ายสินค้ากลุ่มไม่เน่าเสียง่าย (non-perishable) เช่น ข้าวสาร ถั่ว
มากกว่า 50% ที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก อย่างไรก็ดี นาย Michelle Wasylyshen โฆษกสมาคมผู้ประกอบการค้าปลีกแคนาดากล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการลดขยะพลาสติกเพิ่มเติมนอกเหนือจากการมุ่งเป้าที่กลุ่มห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เนื่องจากตลาดค้าปลีกแคนาดายังไม่มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้า supply chain จากทั่วโลก ซึ่งมาตรการของภาครัฐอาจส่งผลพวงอื่น ๆ เช่น ราคาอาหารสูงขึ้น เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการร้าน grocery ในแคนาดาส่วนหนึ่ง เช่น NU Grocery ที่เริ่มลดการใช้พลาสติกบรรจุอาหาร โดยลูกค้าสามารถนำภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์เดิมมาเติมสินค้าภายในร้าน รวมถึงใช้ถุงกระดาษ ขวดโหลแทนถุงพลาสติกหากลูกค้าไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์มาเอง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าสูงกว่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่โมเดลดังกล่าวยังสามารถแข่งขันกับร้านค้าที่มีโมเดลธุรกิจคล้ายกันหรือร้านค้าสินค้าออร์แกนิคในแคนาดาได้
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์