ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2566 สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างร้อนแรงและต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์การค้าต่างประเทศโดยรวมของทั้งประเทศที่เติบโตเพียง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
มูลค่าการค้าต่างประเทศ ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 339,070 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 43.2%(YoY) เป็นการขยายตัวที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 41.1 จุด และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของมณฑลในภาคตะวันตกร้อยละ 39.7 จุด (ในแง่มูลค่า อันดับ 14 ของประเทศ และอันดับ 3 ในภาคตะวันตก)
ในจำนวนข้างต้น แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 170,030 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 35.6% (ในแง่มูลค่า อันดับ 10 ของประเทศ และอันดับ 1 ในภาคตะวันตก) และมูลค่าการส่งออก 169,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 51.7% (ในแง่มูลค่า อันดับ 17 ของประเทศ และอันดับ 3 ในภาคตะวันตก)
โครงสร้างการค้าต่างประเทศ จำนวนผู้นำเข้า-ส่งออกจริง 3,815 ราย เพิ่มขึ้น 406 ราย
(YoY) การค้าในรูปแบบการสากล 136,240 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 34.6% คิดเป็นสัดส่วน 40.2% สินค้าทัณฑ์บน 91,310 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 91.6% คิดเป็นสัดส่วน 26.9% การค้าชายแดน 62,600 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 126.3% โดยเมืองการค้าสำคัญ คือ เมืองชายแดนฉงจั่ว (รวมอำเภอระดับเมืองผิงเสียง) นครเอกหนานหนิง (64,270 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 2.1%) และเมืองท่าฝางเฉิงก่าง เป็น Top3 เมืองที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศสูงสุด
ทั้งนี้ หากแบ่งตามลักษณะพื้นที่ พบว่า เมืองชายแดนติดเวียดนามมีพลวัตสูงที่สุด การค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตเป็นเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นเมืองฉงจั่ว (111,790 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 130.8%) และเมืองไป่เซ่อ (18,820 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 136.7%)
คู่ค้าสำคัญ “อาเซียน” นั่งเก้าอี้คู่ค้าอันดับหนึ่ง 23 ปีซ้อน มูลค่าการค้า 161,380 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 92.6% คิดเป็นสัดส่วน 47.6% ของมูลค่ารวม (เวียดนามและไทยเป็น 2 คู่ค้ารายใหญ่) ขณะที่การค้ากับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง (24,630 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 24.6%) และประเทศในแอฟริกา (16,030 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 35.8%) สามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน
- 10 อันดับคู่ค้าของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ไทย (อันดับ 2) ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลีเกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย
- 10 อันดับแหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ไทย (อันดับ 2) ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี บราซิล สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ซาอุดิอาระเบีย และเกาหลีใต้
- 10 อันดับตลาดส่งออกของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง ไทย (อันดับ 3) สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เม็กซิโก เบลเยี่ยม และอินโดนีเซีย
การส่งออกสินค้ากลุ่มสินค้าส่งออกหลัก ยังคงเป็น (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าส่งออก 99,240 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 51.5% คิดเป็นสัดส่วน 58.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า 10,220 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 60.2% และคอมพิวเตอร์และอะไหล่ 10,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 24.4% (2) สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 19,150 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 147.9% และผลิตภัณฑ์พลาสติก 4,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 68.4% (3) สินค้าเกษตร 6,520 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.7%
การนำเข้าสินค้ากลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการ คือ (1) สินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) มีปริมาณการนำเข้า34.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 24.6% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 80,830 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.9% คิดเป็นสัดส่วน 47.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นสินแร่เหล็ก 15.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.9% น้ำมันดิบ 4.91 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 46.8% และสินแร่ทองแดง 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.9% (2) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 34,110 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25.6% และ (3) สินค้าเกษตร 28,810 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 40.4%
นอกจากนี้ พบว่า ความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer goods) ของกว่างซีมีแนวโน้มหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยช่วงครึ่งปีแรก กว่างซีมีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจาก 66 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 8,450 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 67.6% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มสินค้าอาหาร 8,250 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 79.9% ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และน้ำมันเพื่อการบริโภค และกลุ่มสินค้าเครื่องนุ่มห่ม 1,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.8%
ด่านการค้าสำคัญ ใน 6 เดือนแรกปี 2566 ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (ติดจังหวัด Lang son ของเวียดนาม) มีปริมาณรถสินค้าผ่านเข้า-ออกสะสม 1.96 แสนคันครั้ง เพิ่มขึ้ 183.4% (YoY) มูลค่าสินค้านำเข้า-ออก 193,740 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 230.2% (YoY)
ทั้งนี้ พบว่าสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรจากอาเซียน มีมูลค่า 11,560 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 513.2% (YoY)ในจำนวนนี้ เป็นสินค้าผลไม้ 11,390 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 520.6% (YoY)คิดเป็นสัดส่วน 86.1% ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ทั้งมณฑล
ในบรรดาสินค้าผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานเป็น ‘ทุเรียน’ (จากไทยและเวียดนาม) รวม 3.12 แสนตัน เพิ่มขึ้น 13.1 เท่า (YoY) คิดเป็นสัดส่วน 81.8% ของผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวาน รวมมูลค่านำเข้า 10,560 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11.5 เท่า (YoY) คิดเป็นสัดส่วน 92.7% ของผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวาน
การค้ากับประเทศไทย
ในภาพรวมระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2566 การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 ในประเทศจีน (รองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ซานตง และฝูเจี้ยน) หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าจากไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศ (รองจากมณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซู และซานตง) และการส่งออกไปไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 7 ของประเทศ (รองจากมณฑลกวางตุ้งเจียงซู เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ซานตง และฝูเจี้ยน) ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่าการค้ารวม 21,650 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 43.7%โดยประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี และประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 992 ล้านหยวน
- การนำเข้าจากไทยมีมูลค่ารวม 11,321 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 137.68% (ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของกว่างซี รองจากเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 6.66% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) โดย 10 อันดับสินค้านำเข้าจากไทย ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ทุเรียน มันสำปะหลังแห้ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง มังคุด อะไหล่อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เคมีภัณฑ์ อะไหล่อุปกรณ์หน่วยประมวลผล อะไหล่อุปกรณ์หน่วยเก็บ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายในคอมพิวเตอร์ (Solid State Drive – SSD)
- การส่งออกไปไทยมีมูลค่ารวม 10,329 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 171.21% (ประเทศไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของกว่างซี รองจากเวียดนาม และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน 6.11% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) โดย 10 อันดับสินค้าส่งออกไปไทย ได้แก่ สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม CBEC ผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยว (สำหรับทำโซลาเซลล์) จานแม่เหล็ก สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง
(สำหรับทำแบตเตอรี่) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น กระจกนิรภัย กระดาษและกระดาษแข็งเคลือบด้วยดินขาว - เมืองการค้าสำคัญกับไทย ได้แก่ อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (มีมูลค่า 14,627 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 67.56% ของเขตฯ กว่างซีจ้วง) นครหนานหนิง (สัดส่วน 19.42%) เมืองเป๋ยไห่ (สัดส่วน 3.61%) และเมืองชินโจว (สัดส่วน 3.26%)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
• www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西)
• http://www.customs.gov.cn(海关总署)
• http://nanning.customs.gov.cn(南宁海关)