National Chamber of Commerce and Industry of Malaysia (NICCIM) ได้จัดวาระการประชุม National Economic Forum (NEF) 2023 : Setting The Future Economic Roadmap for New Malaysia เพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย โดย Mohamad Rafizi bin Ramli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ได้กล่าวถึง ‘นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย’ ไว้ดังนี้
- การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะดำเนินการการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิต รวมถึงส่งเสริมการลดความเลื่อมล้ำและความยากจน โดยมาเลเซียจำเป็นต้องลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการผลิตมูลค่าต่ำ (low-valued manufacturing) ตลอดจนการเร่งส่งเสริมการสร้างงานที่มีคุณค่าสูง (high-valued work) เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2566 รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศแผนการดำเนินการที่จะยกเลิกสั่งห้ามการส่งออกพลังงานหมุนเวียน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของมาเลเซีย ซึ่งการยกเลิกดังกล่าวจะสนับสนุนเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี พ.ศ.2593 เพื่อให้มาเลเซียสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้เพียงพอต่อความต้องการโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า มากไปกว่านั้นคือเพื่อการเป็นผู้นำของภูมิภาคในด้านพลังงานสะอาด
- การส่งเสริมระบบนิเวศน์ทางดิจิทัล (Digital Ecosystem) โดยการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และกรอบกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคที่เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัล รวมถึงการมีศูนย์รวมข้อมูลที่เปิดเผยและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสและการนำข้อมูลไปใช้ต่ออย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การเปลี่ยนผ่านและการพัฒนามาเลเซียไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง (high-income nation)
- การตระหนักถึงปัญหาแรงงาน ทั้งในแง่การขาดแคลนแรงงานและการทำงานต่ำกว่าระดับ (underemployment) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาแรงงาน เพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิมและการสร้างทักษะที่จำเป็นต้องการทำงาน (Upskill-Reskill) รวมทั้งการผลิตบุคลากรที่สามารถทำงานในสายอาชีพโดยจำเป็นต้องมีทักษะสูง (high-skilleid)
- การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเรื้อรัง โดย Mohamad Rafizi bin Ramli ได้แสดงถึงความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของ Unity Goverment ซึ่งขั้วการเมืองต่าง ๆ พร้อมจะสละความเห็นต่างเพื่อร่วมกันดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียให้เป็นรูปธรรม
และ นาย Steven Sim รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังมาเลเซีย ได้กล่าวถึง พัฒนาการและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ที่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดโควิต-19 โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 5.6 ในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2566 นับว่าสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งตลาดแรงงานที่เริ่มคืนสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ดี นาย Sim ยังกล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียจะยังไม่นำ Goods and Service Tax (GST) กลับมาใช้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากยังมีกลุ่มประชาชนและธุรกิจบางส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมาเลเซียยังจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญสูงสุดในการผลักดันวาระการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยการกระตุ้นการลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเมื่อถึงจุดที่ธุรกิจสามารถฟื้นตัวแและเริ่มมีกำไร รัฐบาลจึงจะพิจารณาใช้ระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า โดยควบคุมการบริหารงบประมาณอย่างเคร่งครัด รอบคอบ และโปร่งใส เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันและการใช้ภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาประเทศ
ในด้านของภาคเอกชนยังคงมีข้อห่วงกังวลและข้อเรียกร้องเกิดขึ้นในวาระการประชุม โดย Tan Sri Dato’ Soh Thain Lai ในฐานะประธาน NICCIM และผู้จัดงาน ได้นำเสนอในส่วนของภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ไว้ดังนี้ 1) ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเสถียรภาพทางการเมืองและการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องที่มีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ 2) นอกเหนือจากการ
กระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แล้วนั้น ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากภายในประเทศ (DDI) และเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณานโยบายและมาตรการดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ 3) การขาดแคลนผู้มีความสามารถ (shortage of talent) ปัญหาสมองไหล (brain drain) และการพัฒนาระบบการศึกษาและศักยภาพของมนุษย์ 4) ปัญหาค่าเงินริงกิตอ่อน 5) เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณานำระบบการจัดเก็บ Good and Service Tax (GST) กลับมาใช้ ซึ่งภาคธุรกิจมาเลเซียเห็นว่าเป็นระบบการจัดเก็บภาษีที่มีความเป็นธรรม และ 6) ขอให้รัฐบาลมาเลเซียหลีกเลี่ยงการประกาศวันหยุดพิเศษ (Special Holidays) ที่มีการกำหนดอย่างกระทันหัน ซึ่งในแง่ของธุรกิจการประกาศวันหยุดพิเศษกระทันหันดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจขาดทุนถึง 3 พันล้านริงกิตในภาพรวม
ในด้านข้อคิดเห็นของภาควิชาการ โดย Professor Tan Sri Dr. Noor Azlan Ghazili, Director, University Kebangsaan Malaysia ได้สะท้อนภาพปัญหาเศรษฐกิจมาเลเซียที่แตกต่างออกไปจากการนำเสนอของภาครัฐบาล ในหัวข้อ Malaysia Economic Outlook : Are We on the Right Track? โดยมีประเด็นด้านปัญหาที่รัฐบาลมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ได้แก่ ความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมในประเทศที่จะสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการผลิตมูลค่าสูง (high-valued manufacturing) รายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ การขาดบุคลากรที่มีทักษะสูง คุณภาพของระบบ การศึกษา การพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ปัญหา งบประมาณ และหนี้สาธารณะ รวมทั้งข้อจํากัดของรายได้และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลอย่างไม่มีประสิทธิภาพปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และการเกษตร ตลอดจนราคาที่อยู่อาศัยและหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ Tan Sri Dr. Azlan ได้ตั้งคําถามถึงความพยายามของรัฐบาลในการเร่งพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High-income country) เป็นช่วงเวลาที่พร้อมแล้วหรือยัง โดยได้นําเสนอข้อมูลเชิงสถิติที่สะท้อนถึงพื้นฐานและปัจจัยทางเศรษฐกิจของมาเลเซียที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามาเลเซียไปสู่ประเทศรายได้สูง
อย่างไรก็ดี การประชุม NEF 2023 ได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคธุรกิจมาเลเซียและนอกเหนือจากการบรรยายโดยภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการข้างต้นแล้ว ยังมีการจัด Panel Discussion : Setting the Scene – Revitalising Malaysia’s Economy as Investing for the Future: the Role of Environmental, Social, and Governance (ESG) for Business Sustainability อีกด้วย
ที่มารูปภาพ : https://www.fmm.org.my/FMM-@-NCCIM_National_Economic_Forum_2023_on_May_18,_2023_at_KL_Convention_Centre.aspx