แอฟริกาใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค
มีขนาด GDP 4.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ GDP per capita ของ แอฟริกาใต้ อยู่ที่ 6,694 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว นับเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่รองจากไนจีเรีย อีกทั้งยังมีเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีสาขาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับมาตรฐานสากลมากที่สุดในแอฟริกา
ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของแอฟริกาใต้ในอาเซียน ขณะเดียวกัน แอฟริกาใต้ก็เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยเช่นกัน หากประมาณมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้นจะอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 แสนล้านบาท) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.1 แสนล้านบาท) ภายในปี 2568 ปัจจุบัน สินค้าที่ไทยส่งออกไป แอฟริกาใต้มากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องยนต์สันดาปแบบภายในลูกสูบ และข้าว ซึ่งสินค้าเหล่านี้สะท้อนยุทธศาสตร์ทางการค้าของแอฟริกาใต้ ที่ต้องการเป็นฐานการผลิต ประกอบ และนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคอื่นเข้าสู่แอฟริกาและกระจายไปสู่ประเทศรอบข้าง และภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ยุโรป
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
จากข้อมูลข้างต้น ไทยสามารถเพิ่มการค้าขายกับแอฟริกาใต้ในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องยนต์สันดาป ข้าว เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์การเกษตร (อยู่ระหว่างเจรจาส่งออกมังคุดและลำไย) อาหารแปรรูป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานซึ่งแอฟริกาใต้กำลังขาดแคลน นอกจากนี้ แอฟริกาใต้พยายามดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเอกชนต่างชาติอย่างมาก ปัจจุบัน มีบริษัทไทยที่มาลงทุนในแอฟริกาใต้ เช่น บริษัท Thai Summit ซึ่งได้สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนให้กับบริษัท Ford Motor ที่กรุงพริทอเรีย บริษัท CP ที่เมืองเคปทาวน์ นําเข้าไก่และเป็ดเพื่อส่งขายให้กับห้างร้านต่าง ๆ บริษัท Minor Group ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก ดูแลโรงแรมที่พักในเครือ Anantara และ Avani ในประเทศรอบข้างแอฟริกาใต้ ขณะเดียวกัน ยังมีบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) เข้ามาสำรวจตลาด เพื่อหาลู่ทางส่งออกวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์ และบริษัท Supavut Industry ที่กําลังพิจารณาลงทุนในส่วนการผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์ในแอฟริกาใต้ด้วย
อย่างไรก็ดี อย่างไรก็ดี แม้ว่าแอฟริกาใต้จะมีกฎระเบียบทางการค้าที่เป็นสากล แต่ก็ยังประสบปัญหานักลงทุนไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของแอฟริกาใต้ มีข้อกังวล เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค และ ปัญหา non-trade barriers อยู่บ้าง เช่น การออกใบอนุญาตขนถ่ายสินค้าล่าช้า การขโมยสินค้า นอกจากนี้ กฎระเบียบด้านการจัดตั้งบริษัทของแอฟริกาใต้ยังคงมีลักษณะปกป้องทางการค้า เช่น บริษัทที่จะจัดตั้งในแอฟริกาใต้ต้องมีหลักฐานเงินทุนอย่างต่ำ 5 ล้านแรนด์ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ที่ได้รับการรับรองโดยบริษัทบัญชีที่ขึ้นทะเบียนกับทางการแอฟริกาใต้ บริษัทที่จะเปิดหรือลงทุนต้องอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของแอฟริกาใต้ (ไม่อยู่ในกลุ่ม undesirable businesses ได้แก่ ธุรกิจการรถมือสองเข้ามาเพื่อขายต่อไปยังตลาดอื่นนอก แอฟริกาใต้ ธุรกิจ exotic entertainment และอุตสาหกรรม ด้านความปลอดภัย) ต้องมีเอกสาร positive recommendation letter จากกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุด บริษัทจะต้องมีแผนธุรกิจ รวมถึงการจ้างงานและการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนท้องถิ่น และต้องจ้างคนท้องถิ่นในสัดส่วนร้อยละ 60 ต่อคนต่างชาติร้อยละ 40 ถือเป็นข้อควรระวังของนักลงทุนไทยที่ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจขยายการลงทุน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์