เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนาคาร์บอนเครดิตออนไลน์ในหัวข้อ “เพาะปลูกอย่างไรให้ได้เครดิต?” โดยได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (องค์การมหาชน) และบริษัท Spiro Carbon บริษัทเอกชนจากรัฐยูทาห์ เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และร่วมตอบคำถามจากผู้ชม
โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตให้กับคนกลุ่มใหม่ ๆ พร้อมกับนำเทคโนโลยีการเกษตรของสหรัฐอเมริกาไปเผยแพร่ให้แก่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาและเกษตรกรได้ทราบข้อมูล เนื่องจากเป็นโอกาสทางธุรกิจของประชาชน การเตรียมการของบริษัทเอกชน และการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยผลักดันเมื่อตอนที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ในปีที่ผ่านมานี้ด้วย
ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และบริษัท Spiro Carbon จากรัฐยูทาห์ได้แนะนำวิธีการทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” ให้เป็นวิธีการทำนาแบบใหม่ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากแปลงนาได้ โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทดสอบวิธีการทำนาแบบใหม่นี้ใน 6 จังหวัดภาคกลาง ผ่านโครงการ Thai Rice NAMA ผลปรากฏว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ระบบการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวยังไม่ชัดเจน จึงดำเนินโครงการ Thai Rice GCF ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจาก Thai Rice NAMA โดยขยายผลไปยัง 21 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4.5 ล้านไร่ และเกษตรกรมากกว่า 250,000 ราย เพื่อให้ระบบการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวชัดเจนและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
ด้านบริษัท Spiro Carbon ได้ทดลองวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งร่วมกับชาวนาในไทยแล้วพบว่า วิธีดังกล่าวสามารถช่วยลดก๊าซมีเทนลงได้ถึง 70% และสามารถนำไปยื่นเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตได้ ปัจจุบัน บริษัทดำเนินโครงการอยู่ที่ฟิลิปปินส์ อินเดีย และกำลังจะเริ่มโครงการในเวียดนาม โดยปกติบริษัทจะประสานกับชาวนาโดยตรงเพื่อลดคนกลาง โดยใช้แอปพลิเคชันทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อให้ชาวนาส่งข้อมูลกิจกรรมการปลูกข้าวตั้งแต่เริ่มการปลูกจนถึงหลังเก็บเกี่ยว และให้มีการถ่ายภาพท่อวัดระดับน้ำขณะที่น้ำท่วมแปลงนาและเมื่อนาแห้งก่อนที่จะเติมน้ำในแปลงนา จากนั้นบริษัทจะใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นตัวตรวจสอบว่ากิจกรรมของชาวนาเป็นไปตามข้อมูลที่กรอกหรือไม่ ทั้งนี้ ทางบริษัทมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) เพื่อลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้สนใจดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตในไทย
ด้านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้พัฒนาโครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจที่ตั้งอยู่ในไทย ซึ่งต้องสามารถตรวจวัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง ไม่มีการนับซ้ำ และก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมด้านใดเพิ่มเติมได้ด้วย ซึ่งแบ่งโครงการออกเป็นโครงการทั่วไป (Standard T-VER) และโครงการแบบพิเศษ (Premium T-VER) สำหรับภาคเกษตรที่สามารถเข้าร่วมดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตได้ ได้แก่ การลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การปรับปรุงการจัดการน้ำหรือการให้น้ำ การกักเก็บคาร์บอนในดิน และการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของต้นไม้ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน T-VER แล้ว 334 โครงการ และมีโครงการที่ได้รับการรับรองโครงการคาร์บอนเครดิตแล้ว 144 โครงการ โดยเป็นโครงการจากภาคการเกษตรขึ้นทะเบียน 2 โครงการ
จากข้างต้น วิธีการทำการเกษตรแบบใหม่และโครงการคาร์บอนเครดิต นับว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ภาคเกษตรและเอกชนไทยสามารถสร้างรายได้เสริม รวมถึงเป็นประโยชน์ในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์