ท่านทราบหรือไม่ว่า… “ฟิลิปปินส์” เป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับอนุญาตจากศุลกากรแห่งชาติจีนให้สามารถส่งออก “ทุเรียนสด” ได้ต่อจากประเทศไทย และเวียดนาม ตามประกาศศุลกากรแห่งชาติฉบับที่ 1/2566 ว่าด้วยข้อกำหนดด้านการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชในการนำเข้าทุเรียนสดของฟิลิปปินส์ ลงวันที่ 7 มกราคม 2566
เบื้องหลังความสำเร็จของการส่งออกทุเรียนฟิลิปปินส์ไปจีนเป็นผลมาจากการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี Ferdinand Marcos เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงนามข้อตกลงด้านสุขอนามัยสำหรับการส่งออกทุเรียนสดฟิลิปปินส์ไปจีนระหว่างกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์กับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ฟิลิปปินส์ได้ส่งออกทุเรียนล็อตแรกน้ำหนัก 18 ตัน ไปประเทศจีนเป็นผลสำเร็จ ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (IATA: NNG) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทำให้ “ทุเรียนสด”เป็นผลไม้ชนิดที่ 7 ที่ฟิลิปปินส์สามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนได้ต่อจากกล้วยหอม สับปะรด มะม่วง มะละกอ มะพร้าว และอะโวคาโด ทุเรียนฟิลิปปินส์ล็อตแรกนี้เป็นทุเรียนสายพันธุ์ Puyat ซึ่งมีเนื้อสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอม และมีเนื้อสัมผัสที่ละเอียด โดยทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องในสนามบินหนานหนิงได้ประสานความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุเรียนยังคงความสดใหม่ขณะถึงมือผู้บริโภค
หลายปีมานี้ จีนกับฟิลิปปินส์มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ใกล้ชิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตร โดยฟิลิปปินส์เป็นแหล่งนำเข้ากล้วยหอมและสับปะรดใหญ่ที่สุดของจีน และจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของฟิลิปปินส์ โดยสองฝ่ายเชื่อมั่นว่าการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP อย่างเป็นทางการ ของฟิลิปปินส์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะช่วยส่งเสริมกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในระดับทวิภาคีจีน – ฟิลิปปินส์มีความใกล้ชิดและลึกซึ้งมากขึ้นอีกระดับ
จีนเป็นจุดหมายการส่งออกทุเรียนของฟิลิปปินส์ เนื่องจากการบริโภคทุเรียนของชาวจีนมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีและด้วยฐานประชากรมากถึง 1/6 ของโลกจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยการนำเข้าทุเรียนของประเทศจีนปี 2565 มีปริมาณการนำเข้า 824,888 ตัน เพิ่มขึ้น 0.4% (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า) แหล่งนำเข้าทุเรียนที่สำคัญ ได้แก่ ไทย (95.05%) และเวียดนาม (4.95%)
ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย
ตลาดทุเรียนของจีนจะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในระยะใกล้การส่งออกทุเรียนของฟิลิปปินส์ไปยังจีนจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกทุเรียนไทย เนื่องจากฟิลิปปินส์ยังมีกำลังการผลิตไม่สูงและยังมีอุปสรรคในเรื่องต้นทุนการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ยังมี “ทุเรียนญวน” หรือทุเรียนที่ปลูกในเวียดนาม ที่นับเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่าจับตามอง แม้ว่าเวียดนามเพิ่งจะส่งออกทุเรียนล็อตแรกเข้าจีน (ผ่านด่านทางบกโหย่วอี้กวานของกว่างซี) ได้ในช่วงเดือนกันยายน 2565 แต่ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน ทุเรียน เวียดนามก็สามารถเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนไทยในจีนไปได้เกือบ 5% ผลจากเวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านจีน มีพรมแดนติดกับเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน จึงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง และระยะทาง ซึ่งช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ได้มากกว่าไทย แถมยังมีฤดูเก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างยาว ได้ผลผลิตต่อปีค่อนข้างสูง ส่งผลให้ในอนาคต ‘สงครามราคา’ อาจเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญ แล้วเรามีแนวทางการปรับตัวอย่างไร? อย่าลืมติดตามใน glob ทันโลกตอนหน้า
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงและศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
____________________________________________________________________
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง www.gx.chinanews.com.cn
- www.gxnews.com.cn
- www.customs.gov.cn
- http://xinhuanet.com
- www.ditp.go.th
- www.doa.go.th
- เครดิตภาพ xinhuanet