สำรวจโอกาสความร่วมมือ “ถั่วเหลือง” และความร่วมมือด้านอาหารระหว่างไทยกับอาร์เจนตินา เมื่อคณะทูตอาเซียนได้พบหารือกับนาย Gustavo Grobocopatel ผู้ก่อตั้งบริษัทธุรกิจถั่วเหลือง Grupo Los Grobo ยักษ์ใหญ่ในฉายา King of Soybean ในอาร์เจนตินา เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
อาร์เจนตินาเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองอันดับต้น ๆ ของโลก โดย 95-97% ของผลผลิตถั่วเหลืองที่ได้เป็นสินค้าส่งออก ซึ่งอาร์เจนตินาครองอันดับ 1 ผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง (soybean oil) และอาหารถั่วเหลือง (soybean meal) สำหรับการบริโภคและเลี้ยงปศุสัตว์ โดยปี 2564/65 ผลิตถั่วเหลืองได้ 44 ล้านตัน ขณะที่ปี 2565/66 คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 30 ล้านตัน เนื่องจากประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง สำหรับคู่ค้านำเข้าถั่วเหลืองที่สำคัญ คือ อียู เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
กำลังการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต
ผลผลิตถั่วเหลืองส่วนใหญ่มาจากเขต Pampa ซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมหลักของประเทศ มีเกษตรกรเพาะปลูกถั่วเหลืองประมาณ 150,000 ราย ผู้ประกอบการด้านถั่วเหลือง 10,000 ราย และมีบริษัทส่งออกประมาณ 20 บริษัท โดยในส่วนของบริษัท Los Grobo เป็นผู้ประกอบรายใหญ่แบบครบวงจร ทั้งการให้คำปรึกษาด้านเมล็ดพันธุ์ การบริหารจัดการ เครื่องมือเกษตร ห้องปฏิบัติการเคมี และเป็นที่ปรึกษาในต่างประเทศ
อาร์เจนติจาสามารถผลิตถั่วเหลืองได้ในต้นทุนที่ไม่สูง มีผลผลิตต่อไร่สูงมาก และผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีการเกษตรหลากหลายที่น่าสนใจ ได้แก่
- ระบบเพาะปลูกแบบสลับหมุนเวียนพืชไร่ (crop rotation system) ระหว่างถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ทานตะวัน และข้าวบาร์เลย์ในแปลงปลูกเดียวกันในแต่ละปี โดยเกษตรกรเป็นผู้แบ่งสรรแปลงเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดและสามารถเกื้อกูลต่อกันได้
- การไม่ไถกลบ (no-till system) โดยใช้เทคนิคการเกษตรอื่น ๆ ร่วม ช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน
และลดปัญหาสะสมของเชื้อราและแบคทีเรีย รักษาความอุดมสมบูรณ์แร่ธาตุในดิน ซึ่งช่วยลดปริมาณและต้นทุน
การใช้สารเคมีและปุ๋ย - ภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการขึ้นเอง ใช้ระบบดาวเทียมสำรวจและวิเคราะห์เพิ่มความแม่นยำ มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน นักวิจัยจากสถาบันการศึกษา และ เกษตรกร ตลอดจน
มีงบสนับสนุนเกษตรกร
โอกาสของไทย
ปัจจุบัน นักธุรกิจอาร์เจนตินามีเป้าหมายส่งออกและการร่วมทุนกับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนาย Gustavo Grobocopatel ให้มุมมองว่า ภาคเอกชนในอาเซียนและอาร์เจนตินาสามารถร่วมมือด้านถั่วเหลืองได้ในรูปแบบของการพัฒนาแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองควบคู่กับการพัฒนาชนบท รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ในสาขาเกี่ยวข้อง เช่น ด้านวัตถุดิบ การผลิตเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ด้านโลจิสติกส์ การกระจายสินค้าจากอาร์เจนตินาสู่อาเซียน เป็นต้น
จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนไทยในการพัฒนาความร่วมมือ เช่น การร่วมลงทุนกระจายสินค้าเกษตรจากอาร์เจนตินามายังไทย และจากไทยไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังสามารถร่วมมือด้านการพัฒนาสายพันธุ์ถั่วเหลือง การเพิ่มผลผลิตเพาะปลูกโดยศึกษาเทคนิคการเกษตรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจากอาร์เจนตินาได้
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์