นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานการณ์วิกฤตพลังงานในสหภาพยุโรป (อียู) ถูกกระตุ้นให้รุนแรง ขึ้นด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อียูประสบปัญหาด้านพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กําลังจะมาถึง
ในระยะสั้น อียูจึงใช้มาตรการกระจายแหล่งนำเข้าพลังงาน เช่น เร่งเจรจาหาแหล่งก๊าซฯ เพิ่มเติมกับ นานาประเทศ รวมถึงนอร์เวย์ (แหล่งนําเข้าก๊าซฯ ลำดับ 2 ของอียู) อียิปต์ อิสราเอล กาตาร์ สหรัฐฯ และ อาเซอร์ไบจาน ควบคู่กับมาตรการเพิ่มระดับการจัดเก็บก๊าซฯ สํารองให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของศักยภาพ การจัดเก็บภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
ในระยะยาว อียูเห็นว่าวิกฤตพลังงานเป็นโอกาสเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์และด้วยพลังงานลมทั้งในและนอกชายฝั่ง เพิ่มการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจนสะอาดและไบโอมีเทนภายในอียู รวมทั้งนําเข้าไฮโดรเจนสะอาดจากออสเตรเลียผ่านทางท่าเรือรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
อียูเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน
วิกฤตพลังงานปัจจุบันทำให้อียูเร่งเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วขึ้น ล่าสุด ส.ส. ยุโรปได้ ลงมติให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในยุโรปให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 45 ภายในปี 2573 ภายใต้การแก้ไข กฎหมายพลังงานหมุนเวียน (RED) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คณะกรรมาธิการยุโรปสนับสนุนในกรอบแผน “REPowerEU” อียูได้ปรับเป้าหมายอย่างมีความทะเยอทะยานมากเรื่อย ๆ จากการเพิ่มสัดส่วนร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 32 ร้อยละ 40 และร้อยละ 45 และมีเป้าหมายให้ราคาพลังงานจากแหล่งหมุนเวียนลดลงและจับต้องได้มากขึ้น
ความท้าทายของการเปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียน
สถิติปี 2563 อียูมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการผลิตไฟฟ้าในเกณฑ์ที่ดีที่ประมาณร้อยละ 37 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่ในภาคการขนส่ง ภาคระบบทำความร้อน และภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง ยังต้องพัฒนาเนื่องจากสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนยังห่างจากเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก
แม้การเปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของอียูมีพัฒนาการที่ดี แต่ยังพบอุปสรรคด้าน ระยะเวลาในการขอใบรับรองและขั้นตอนการเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าที่ซับซ้อนและใช้เวลา การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จำเป็นต้องมีนโยบายอื่น ๆ มาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้า ภาคการขนส่ง ภาคระบบทำความร้อนและระบบทำความเย็น และภาคอุตสาหกรรมด้วย
บทเรียนจากประสบการณ์ของอียู
ความร่วมมือระดับภูมิภาคมีบทบาทสำคัญในการช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ละประเทศมีนโยบายพลังงานหมุนเวียนแตกต่างกัน ต่างมุ่งหาสัดส่วนของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมกับ ศักยภาพของประเทศตน โดยพิจารณาว่าประเทศสามารถผลิตและ/หรือนําเข้าพลังงานหมุนเวียนประเภทใด สามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยไม่จำเป็นต้องผลิตพลังงานหมุนเวียนเองทั้งหมด
เมื่อคํานึงว่าไทยก็จำเป็นต้องรับมือกับวิกฤตพลังงาน ในระยะยาวไทยเองควรเร่งพัฒนาศักยภาพการ ผลิตพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ต้องก้าวข้ามความท้าทายในการเปลี่ยนผ่าน อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายไฟฟ้าในไทยและการปฏิรูปตลาดพลังงานของไทยให้มีการแข่งขันและมีขีดความสามารถสูงขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของอียูประกอบการพิจารณา ทั้งในมิติด้านกฎหมาย การส่งเสริมนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมกับศักยภาพของไทยเอง
ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถร่วมมือกับอียู งานเสวนาโต๊ะกลม “Advancing ASEAN-EU Strategic Partnership” จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับคณะทูตประเทศสมาชิกอาเซียนประจำกรุงบรัสเซลส์ (ABC) เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอียูร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความร่วมมืออาเซียน-อียูด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับโลก ความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) ซึ่งฝ่ายอียูสามารถสนับสนุนไม่เพียงทางการเงิน แต่รวมถึงทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านที่มีต่อบุคคลและอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ช่วยสร้างงาน และสนับสนุนการปรับปรุงกฎระเบียบให้อาเซียนสามารถยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจสีเขียว
สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานของไทยเรื่องพลังงานหมุนเวียนแล้วยังจะช่วยภาคธุรกิจในการรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ซึ่งทีมงานจะติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจในอียูมานําเสนอผู้อ่านต่อไป
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป