ในด้านภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ สำนักงานสถิติเยอรมนีรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีเดือนกันยายน 2565 สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ร้อยละ 10 (คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 9.4) ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ทั้งนี้ สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2565 เพิ่มสูงขึ้นมากมาจากการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง และการสิ้นสุดมาตรการลดราคาบัตรโดยสารรถสาธารณะเหลือ 9 ยูโร/เดือน ซึ่งมาตรการทั้ง 2 มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการทางสภาพภูมิอากาศเยอรมนีคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.4 และอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 8.8 ขณะที่ธนาคารแห่งชาติเยอรมนี (Bundesbank) คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะยังคงอยู่ในอัตราเกินร้อยละ 10
ทางด้านของนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Commerz Bank คาดการณ์ว่า ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมนีถดถอยลงในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 – พฤษภาคม 2566 เนื่องจากกําลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และประชาชนมีแนวโน้มจะเก็บออมเงินมากขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน Macroeconomic Policy Institute (IMK) วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดสูงสุด เนื่องจากราคาพลังงานจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาไฟฟ้า และก๊าซของครัวเรือนจะปรับตัวสูงขึ้นในต้นปี 2566 ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายรายออกมาเตือนว่า การใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว (expansionary fiscal policy) อาจกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ในด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน ปัจจุบันเยอรมนี มีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากการทำฟาร์มโซลาร์ที่ร้อยละ 19 ของการผลิตไฟฟ้ารวมในเยอรมนี ซึ่งสามารถผลิตได้มากเป็นอันดับ 2 ของอียู รองจากเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 23) และสเปนผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มากเป็นอันดับ 3 (ร้อยละ 17) ทั้งนี้ การขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเยอรมนีใช้รับมือกับวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน โดยเยอรมนีวางแผนจะติดตั้งฟาร์มโซลาร์เพิ่มขึ้นในต้นปี 2566 เพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ รวมทั้งจะมีการออกระเบียบใหม่เพื่อรองรับการผลิตก๊าซชีวภาพและส่งเสริมความความปลอดภัยของโครงข่ายไฟฟ้าอีกด้วย
อีกทั้งสถาบัน Fraunhofer Institute for Solar Energie System (ISE) ในเมือง Freiburg ได้ค้นพบเทคโนโลยีในการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำให้การผลิตมีราคาถูกลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการใช้ทองแดงแทนการใช้โลหะเงิน และใช้อลูมิเนียมทดแทนหน้ากากพลาสติกที่เป็นตัวรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันทำจากซิลิคอน (Silicium) ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อหน้ากากพลาสติกหมดอายุใช้งานจะต้องทิ้งกลายเป็นขยะ ในขณะที่การใช้อลูมิเนียมสามารถนํามารีไซเคิลได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยความสำเร็จของการวิจัยในครั้งนี้นับว่าเป็นการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
และในปัจจุบัน เยอรมนีกําลังพัฒนาการผลิตพลังงานลมด้วยการสร้าง Airborne Wind Turbine ซึ่งเป็นกังหันลมที่ยึดติดกับเชือกที่คล้ายกับว่าว โดยกังหันลมแบบ Airborne Wind Turbine 1 ตัว คาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตพลังงานลม 400 – 600 เมกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี โดยการใช้กังหันลมดังกล่าวสามารถลดการใช้วัสดุในการผลิตกังหัน รวมทั้งสามารถผลิตพลังงานลมได้มีประสิทธิภาพกว่ากังหันลมทั่วไป เนื่องจากสามารถปรับความสูงได้ และสามารถลดพื้นที่ในการทำฟาร์มกังหันลมอีกด้วย ทั้งนี้ เยอรมนีวางแผนผลิตกังหันลมแบบ Airborne Wind Turbine ตัวแรกให้เสร็จในปี 2566 และคาดว่าจะสามารถผลิตใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2570
นอกจากนี้ ด้านแนวโน้มการบริโภคของชาวเยอรมัน สถาบันวิจัยตลาด GKF-Nurnberg ทำการสํารวจความคิดเห็นของชาวเยอรมันปรากฏว่า การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคของคนเยอรมัน โดยการบริโภคของคนเยอรมันในเดือนตุลาคม 2565 อาจจะลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสํารวจการบริโภคของคนเยอรมันตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา เนื่องจากหลายครัวเรือนต้องสํารองเงินสำหรับจ่ายค่าพลังงานเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยการบริโภคที่ลดลงของชาวเยอรมันส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านค้าปลีกอย่างมาก เนื่องจากร้านค้าปลีกไม่สามารถผลักภาระราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของคนเยอรมันจะลดลงอีกร้อยละ 2.5 เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า วิกฤตการณ์ด้านพลังงานจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อใด
สำหรับประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครนยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของเยอรมนีอย่างมาก ทำให้คนเยอรมนีและภาคธุรกิจต่างจับตามองนโยบายและการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเยอรมนีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจในเยอรมนีด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทยควรเตรียมความพร้อมรับมือต่อไป
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน