กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า ในปี 2565 GDP ของอิตาลีจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เท่ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังอิตาลีที่คาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ดี IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสถัดไป เนื่องจากวิกฤติพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่า GDP อิตาลีจะหดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่างจากการคาดการณ์ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังอิตาลี ซึ่งคาดว่าจะหดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทั้งนี้ หากเป็นไปตามการคาดการณ์ของ IMF จะส่งผลให้การขาดดุลและอัตราหนี้สาธารณะของอิตาลีที่ก่อนหน้านี้อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องหยุดชะงักลงและอาจปรับตัวสูงขึ้น
การคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจอิตาลีในปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวลงมาก ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 2.7 แต่อิตาลีได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเขตยูโรโซน และในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากราคาค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น การส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวลง โดยปัจจัยเดียวที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจอิตาลีคือการลงทุนที่ได้มาจาก งบประมาณ Recovery Plan ของอียู โดย IMF คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของอิตาลีในปี 2566 จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 เทียบกับปี 2565 ที่ร้อยละ 8.7 ขณะที่อัตราการว่างงานในปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.4 เทียบกับปี 2565 ที่ร้อยละ 8.8
โดย IMF แนะนำให้รัฐบาลอิตาลีออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังการดำเนินนโยบายการคลังสาธารณะและควบคุมอัตราหนี้สาธารณะให้ลดลง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลกลางอิตาลีได้ดำเนินการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติพลังงานอย่างต่อเนื่องแล้วถึง 3 ฉบับ โดยรัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับมาตรการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขาดดุลการคลัง เนื่องจากเศรษฐกิจอิตาลีในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีรายได้แผ่นดินเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีรายได้ส่วนเกินของบริษัทด้านพลังงาน
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์