สถานการณ์ด้านอาหารทั่วโลกกําลังเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การกระจายอาหารที่ไม่สม่ำเสมอ ขยะอาหาร การขาดสารอาหาร ภาวะโรคอ้วน และการเพิ่มขึ้นจํานวนประชากร ทุกประเทศจึงควรร่วมมือกันเพื่อรักษาอาหารที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืนและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทั่วโลกทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต
องค์กร Food Nation Denmark จึงได้จัดการอภิปรายเรื่อง “Global Food Talk: Gastronomy As A Driver To Initiate Sustainable Food System Changes” ในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 วัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ gastronomy หรือศาสตร์ของอาหาร ที่สามารถนํามาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสุขนิสัยในการรับประทานอาหารที่ดี การลดปริมาณขยะจากอาหาร (food waste) การมีส่วนร่วมในการพัฒนา ภาคการเกษตรและ การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
ซึ่งเดนมาร์กเป็นประเทศผู้นําในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ทําให้อาหารมีความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้เดนมาร์กมีวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารที่หลากหลายและนิยมการใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล รวมถึงการมีภัตตาคารที่มีชื่อเสียงและได้รับดาวมิชลินหลายแห่ง และอีกข้อที่สำคัญคือเดนมาร์กมีการดําเนินความร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมอาหารและพ่อครัวในภัตตาคารระดับมิชลินทําให้เดนมาร์กสามารถผลิตอาหารที่ยั่งยืนและลดปริมาณขยะจากอาหารได้
ตัวอย่างของร้านอาหารที่แนวคิดการประกอบอาหารยั่งยืนเช่น ภัตตาคาร Geranium ของเดนมาร์กที่ประกาศยกเลิกการเสริฟเมนูอาหารประเภทเนื้อสัตว์และหันมาเน้นการใช้ผัก ปลาและ อาหารทะเลจากท้องถิ่นในการประกอบอาหารแทน หรือร้านอาหารไทยระดับมิชลิน ชื่อ “โบ.ลาน (Bo.lan)” ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีการนํา food waste มาปรุงเป็นเครื่องดื่มและขนมทานเล่น รวมทั้งมีการเผยแพร่การให้ความรู้และแนวคิดในการนํา ขยะอาหารกลับมาใช้อีกให้แก่หน่วยงานและร้านอาหารต่าง ๆ
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนแก่กระบวนการผลิตอาหาร คือความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในการทําให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงกําลังซื้อของผู้บริโภคและราคาของผลิตภัณฑ์ การรักษาความสมดุลระหว่างกําไร อุปสงค์และอุปทาน และการให้ความสำคัญต่อดําเนินการตามเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้นําตลาดภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและผู้นําด้านการเผยแพร่ความรู้และการวิจัยในด้านอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการมองหาโอกาสในการเป็นพันธมิตรหรือการทําธุรกิจร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารของเดนมาร์ก เพื่อนำแนวคิดการทำธุรกิจอาหารที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในการตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์