เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ด่านท่าเรือกวนเหล่ยในเขตฯ สิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการขนส่งสินค้าอีกครั้ง นับเป็นข่าวดีต่อผู้ประกอบการไทยที่รอคอยข่าวดีนี้มากว่า 2 ปี 5 เดือน รวมทั้งเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นฟูธุรกิจการขนส่งทางเรือบนแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง ซึ่งเชื่อมโยงไทยกับมณฑลยูนนาน รวมถึงจีนตอนใต้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองฝ่าย
โดยการผลักดันให้ท่าเรือกวนเหล่ยกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เริ่มขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2565 เมื่อสำนักงานด่านชายแดนของรัฐบาลมณฑลยูนนานมีหนังสือสั่งการให้รัฐบาลเขตฯ สิบสองปันนาเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ยเพื่อฟื้นฟูการขนส่งสินค้าตามหลักการ “ไม่ข้ามเส้นแดง 3 ประการ ได้แก่ ไม่นําเข้าโรคระบาด ไม่แพร่กระจายโรคระบาด และไม่ทำให้กลับมาเกิดการระบาดของโรคอีก โดยด่านท่าเรือกวนเหล่ยได้เตรียมความพร้อมฟื้นฟูการขนส่งสินค้าจนแล้วเสร็จในวันที่ 16 กันยายน 2565 ก่อนที่ในช่วงเช้าวันต่อมา เรือ “จื่อจิง 8” ซึ่งบรรทุกมันฝรั่งน้ำหนักรวม 226 ตัน จะเคลื่อนตัวออกจากท่าเรือกวนเหล่ยมุ่งหน้าไปยังประเทศไทย นับเป็นการเดินเรือขาออกเที่ยวปฐมฤกษ์ของด่านท่าเรือกวนเหล่ยในรอบเกือบ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก ปริมาณการสัญจรของเรือขนส่งสินค้าขาเข้ามายังท่าเรือกวนเหล่ยอาจจะยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากผู้ส่งออกสินค้าผ่านแม่น้ำโขงในประเทศเพื่อนบ้านของมณฑลยูนนานทั้งใน สปป. ลาว เมียนมา รวมถึงประเทศไทย ยังคงต้องใช้เวลาประสานงานติดต่อเจรจาธุรกิจ ตลอดจนศึกษาและวางแผนการขนส่งทางเรือให้สอดคล้องกับระเบียบและมาตรฐานด้านการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งนี้ การเปิดด่านเพื่อขนส่งสินค้ายังจํากัดเฉพาะสินค้าทั่วไปเป็นหลักก่อน โดยยังไม่อนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าที่ต้องดำเนินการผ่านระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (cold chain) อาทิ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็งของไทย เนื่องจากฝ่ายจีนยังมองว่าสินค้าในกลุ่มควบคุมอุณหภูมิยังมีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และอาจเป็นการนําเข้าโรคระบาดจากต่างประเทศซึ่งขัดกับหลักการ “ไม่ข้ามเส้นแดง 3 ประการ” อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นฟูการขนส่งสินค้าผ่านด่านท่าเรือกวนเหล่ยในครั้งนี้
สำหรับสินค้าผลไม้สดที่ไทยมุ่งหวังจะขนส่งไปจีนผ่านด่านท่าเรือกวนเหล่ยนั้น ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ เนื่องจากด่านท่าเรือกวนเหล่ยยังไม่ได้รับการกำหนดจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนให้เป็น “ด่านจําเพาะสำหรับการนําเข้าผลไม้” (state designated port for imported fruits) อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลไม้ไทยผ่านด่านโม่ฮานซึ่งเป็นด่านจําเพาะสำหรับการนําเข้าผลไม้ที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนกำหนดไว้อยู่แล้ว รวมถึงตั้งอยู่ห่างจากด่านท่าเรือกวนเหล่ยเพียง 130 กิโลเมตร ก็นับว่ามีประสิทธิภาพและสามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอในปัจจุบัน
ในระยะต่อจากนี้ เมื่อมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านด่านท่าเรือกวนเหล่ยมีความชัดเจนมากขึ้น จนผู้ส่งออกในประเทศลุ่มน้ำโขงมีความมั่นใจ ก็คาดว่าการเดินเรือขนส่งสินค้าบนแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้างจะทยอยกลับมาคึกคักอีกครั้ง สำหรับไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นหน้าด่านความเชื่อมโยงทางน้ำกับด่านท่าเรือกวนเหล่ยผ่านท่าเรือเชียงแสน ก็มีผู้ประกอบการหลายรายทราบข่าวและเตรียมที่จะกลับมาเดินเรือขนส่งสินค้าไปจีนแล้ว ขณะเดียวกัน หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเชียงรายก็เร่งประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมในการรองรับการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ผ่านแม่น้ำแห่งโอกาสสายนี้อย่างกระตือรือร้น
โดยที่ผ่านมา สินค้าสำคัญที่ไทยนําเข้าจากท่าเรือกวนเหล่ยผ่านท่าเรือเชียงแสน ได้แก่ สินค้าเกษตรและสินค้า เบ็ดเตล็ด ขณะที่สินค้าไทยที่ส่งออกจากช่องทางนี้กลับไปยังท่าเรือกวนเหล่ย ได้แก่ ยางพารา อาหารแปรรูปสินค้าเบ็ดเตล็ด และชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง โดยด่านท่าเรือกวนเหล่ยนับเป็น “ด่านจําเพาะสำหรับนําเข้าเนื้อสัตว์” (state designated port for imported meat) ที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic of China: GACC) กำหนด
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน/สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์