เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 สหรัฐฯ ได้รายงานสถิติดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมิถุนายนว่า ปรับเพิ่มร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2548 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 หากเทียบกับปี 2564 โดยเป็นปรับเพิ่มขึ้นรายปีสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2524 หรือในรอบ 40 ปี ทั้งนี้ ดัชนี CPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อได้มาอยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 6 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน หรือ core CPI) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากค่าเช่าที่สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นอัตรารายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2529
ปัจจัยที่ทำให้ดัชนี CPI สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากได้แก่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่พักอาศัย และอาหาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวดพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเตา ที่มีราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 59.9 และ 98.5 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์เรื่องอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ว่า ดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้นเพราะสาเหตุหลักจากราคาน้ำมัน ไม่สะท้อนสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สถานีบริการที่ปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือน และดัชนี CPI รายปีที่ปรับตัวมาอยู่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 6 เป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อตามแผนงาน ดังนี้
- บรรเทาปัญหาราคาน้ำมัน โดยการปล่อยน้ำมันสำรองจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ร่วมมือกับประเทศพันธมิตรเกี่ยวกับเพดานราคาน้ำมัน และประสานกับกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต
- เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายช่วยลดค่าครองชีพ ได้แก่ ราคาเวชภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายประกันสุขภาพ
- คัดค้านร่างแผนงานที่จะส่งผลกระทบให้ชาวอเมริกันต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น หรือแผนงานที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเด็นสวัสดิการของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง
- การให้อำนาจธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อ
นักวิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูง และภาวะตลาดแรงงานตึงตัว จะส่งผลให้ FED ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.75 ในการประชุม 26-27 กรกฎาคม เพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยรวมร้อยละ 1.5 ที่ได้ปรับเพิ่มมาแล้ว
การที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบต่อไทยเช่นกัน โดยเฉพาะต่อห่วงโซ่อุปทาน และภาคการส่งออก ที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและค่าขนส่งสินค้า โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น การขนส่งเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสินค้าการเกษตร และสินค้าคงทน สำหรับสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็ง ยังมีแนวโน้มเติบโตดี โดยยังมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยจากวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้
อ้างอิง: