กระแสของรถยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก เนื่องจากช่วยลดปัญหาโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ เช่นเดียวกัน สหภาพยุโรปมีการวางแนวทางและนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้คนของประเทศตนเองใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์สันดาป (Internal combustion engine – ICE) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) และลดภาระรายจ่ายในการนำเข้าน้ำมันแล้ว ยังถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรปซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีให้ดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไว้ได้
โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2022 สภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปให้มีการยกระดับมาตรฐานการปล่อยก๊าซ Co2 ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) มีใจความสำคัญ ดังนี้
1) เพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ Co2 สำหรับรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่ในเขตสหภาพยุโรปเป็นร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และลดเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2035 โดยในส่วนของรถตู้ ให้ลดค่าการปล่อยก๊าซ Co2 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากเดิมซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 31 ก่อนลดเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2035 เช่นเดียวกัน
2) ขยายความทั่วถึงของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าบนเส้นทางสายหลักในทุกระยะ 60 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle – BEV ) และทุกระยะ 150 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Electric Vehicle) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะทำให้ตลาดรถยนต์ขนาดเล็กของยุโรป ซึ่งหมายถึง รถยนต์นั่ง รถตู้ รถโดยสาร และรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3.5 ตัน ต้องปลอดมลพิษภายในปี ค.ศ. 2035 ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องยุติการขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมัน (ทั้งรถยนต์ที่ผลิตในเขตอียู และรถยนต์ที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นรถใช้น้ำมันดีเชล หรือเบนซิน รวมถึงรถยนต์ไฮบริด ภายในปี ค.ศ. 2035 และหันไปจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานที่ไม่ปล่อยมลพิษแทน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปหลายค่ายในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ อาทิ เยอรมนี และอิตาลี ได้ออกมาคัดค้านแผนการดังกล่าว โดยมองว่าแม้เทคโนโลยี EV ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ยังคงมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น (1) แบตเตอรี่ยังมีคุณภาพและเสถียรภาพไม่สูงพอ (2) ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (3) รวมทั้งปัญหาความพร้อมด้านทักษะแรงงาน ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV อย่างเต็มตัวของประเทศในทวีปยุโรปในเวลาอันใกล้ อีกทั้งปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิต (supply Chain) เกิดการหยุดชะงัก หรือผลิตได้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปจึงแนะนำให้ภาครัฐพิจารณายืดระยะเวลาสำหรับการขายรถยนต์ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันสังเคราะห์ (synthetic fuel) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกของรถยนต์เชื้อเพลิงปล่อยมลพิษต่ำที่ดี (low-emission vehicle) ออกไปอีกจนถึงปี ค.ศ. 2040 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุครถยนต์ปลอดมลพิษได้อย่างราบรื่น
ในส่วนของประเทศไทย สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบยานยนต์ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของผู้ประกอบการไทยไปสู่ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป การที่สหภาพยุโรปยกระดับมาตรฐานยานยนต์ที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยอนุญาตให้ใช้ยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซ Co2 เป็นศูนย์เท่านั้น ภายในปี ค.ศ. 2035 ย่อมส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดรถยนต์สันดาปจะถูกลดบทบาทลง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาตลาดและขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปอนาคต
ที่มา: