บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Cushman & Wakefield (C&W) เปิดเผยว่า ในปี 2565 พื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working space) ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) จะขยายตัวมากถึงร้อยละ 5.5 ของพื้นที่สำนักงานเกรด A ใน CBD และคาดการณ์ว่า ค่าเช่าสำนักงานเกรด A จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดย Co-working space ในสิงคโปร์มีผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ (1) WeWork (2) JustCo และ (3) IWG ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 50
จากปัจจัยที่ Co-working space มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ห้องประชุม อินเตอร์เน็ต และพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์วิธีการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบัน อาทิ หลายบริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ รวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจ SME/Startup และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelancer) ต่างนิยมใช้ Co-working space ซึ่งมีราคาประหยัดกว่าการเช่าสำนักงานรายเดือน
นอกจากธุรกิจ Co-working space แล้ว ในส่วนของธุรกิจที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-living space) ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตในปัจจุบันได้เช่นกัน โดย Ascott ซึ่งเป็นหน่วยงานการลงทุนของบริษัทสิงคโปร์ (CapitalLand) ได้เปิดดำเนินการ Co-living space ภายใต้แบรนด์ lyf ในเดือนเมษายน 2565 ที่ย่าน one-north ตอนกลางของสิงคโปร์ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่จำนวนมากและเป็นศูนย์กลางการวิจัย ปัจจุบัน Ascott มี Co-living space ภายใต้แบรนด์ lyf จำนวน 17 แห่ง มากกว่า 3,200 ยูนิต ใน 9 ประเทศ และตั้งเป้าบรรลุ 150 แห่ง 30,000 ยูนิต ภายในปี 257
ทั้งนี้ ธุรกิจด้านนี้ยังได้รับความสนใจจากบริษัทนอกเอเชีย โดยเมื่อเดือนเมษายน 2565 บริษัท Hmlet รายใหญ่ในสิงคโปร์ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท Habyt ในเครือของยุโรป ทำให้ Hmlet มี Co-living space จำนวน 1,200 ยูนิต ในสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยภายในสิ้นปี 2565 มีแผนจะเพิ่มเป็น 2 เท่าที่ 2,300 ยูนิต ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการควบรวมดังกล่าวจะขยายเครือข่ายของ Habyt ออกเป็น 20 เมืองใน 10 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย Co-living space อาจยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากยังมีที่พักอาศัยประเภทอื่นให้เลือกในอัตราเช่าที่ไม่สูงจนเกินไป รวมถึงผู้ดำเนินการธุรกิจนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินทุน หรือดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ผู้ประกอบการรายย่อยนั้นยังมีจำนวนไม่มากที่ให้บริการ Co-living space ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ส่วนใหญ่เน้นตลาดชาวต่างชาติที่สามารถทำงานได้จากทุกที่ (digital nomad)
อย่างไรก็ตาม จากการที่ธุรกิจนี้มีการเติบโตและอุปสงค์ทั่วภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนที่พักหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่รองรับธุรกิจนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ราคาที่ดินและอัตราค่าเช่าสูงขึ้น ทั้งนี้ นอกจาก Co-working space และ Co-living space แล้ว ผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจด้านอาหารและขนมยังสามารถพิจารณาธุรกิจห้องครัวให้เช่า (Co-kitchen space) ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ครัวไม่เพียงพอ หรือไม่มีต้นทุนที่จะเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเองแล้วยังตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่หันมาสั่งอาหาร delivery กันมากขึ้น