สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการค้า และห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศอย่างมาก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากการที่หลายชาติหันมาห้ามนำเข้า-ส่งออกสินค้ารัสเซีย และให้ความช่วยเหลือยูเครนด้านมนุษยธรรม ที่อยู่ หรืออาหาร ซึ่งหลายประเทศในยุโรปต่างออกมาแสดงจุดยืนในการแบนการนำเข้าสินค้าหลายรายการจากรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบไปยังทุกประเทศทั่วโลกอย่างหนัก รวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ในยุโรปด้วยเช่นกัน
รัฐไบเอิร์น แห่งเยอรมนีเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับผลกระทบในภาคการเกษตร โดยหนึ่งในนั้น คือราคานมวัวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมสามารถสร้างผลผลิตน้ํานมวัวเกินกว่าร้อยละ 170 ทําให้เกษตรกรจํานวนมากเริ่มลดอัตราการผลิตลง ส่งผลให้ปริมาณน้ํานมดิบในตลาดมีจํานวนจํากัดจนทําให้ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณลิตรละ 50 เซนต์ อีกที่งยังได้รับผลกระทบด้านปัจจัยต้นทุนการผลิต ได้แก่ ราคาพลังงานและอาหารวัวที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยสมาคมเกษตรกรผู้ผลิตนมวัวแห่งเยอรมนี คาดว่า ราคาน้ํานมวัวดิบในช่วงไตรมาส 2-3 อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณร้อยละ 25 ส่วนรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมีรายได้จากธุรกิจค้าปลีกลดลงร้อยละ 4.9 ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวลดลงของมูลค่าที่ได้จากสินค้าบริโภค ในขณะที่สินค้าอุปโภค อาทิ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 39
ขณะเดียวกัน เนเธอร์แลนด์ก็กำลังประสบปัญหาพลังงานจากนโยบายลดการพึ่งพาก๊าซและน้ํามันจากรัสเซีย ทําให้เนเธอร์แลนด์ต้องเร่งหาแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ และป้องกันมิให้เกิดการหยุดชะงักของภาคธุรกิจ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ราคาพลังงานในเนเธอร์แลนด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชากร และภาคธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงค่าไฟฟ้าและสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะราคาอาหาร ขณะนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนําก๊าซที่เมือง Groningen ทางตอนเหนือของประเทศมาใช้ทดแทน ซึ่งแต่เดิมได้ระงับการนําก๊าซธรรมชาติและน้ํามันจากแหล่งนี้มาใช้ เนื่องจากประชากรใน พื้นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในบริเวณนี้ รวมถึงนโยบายด้าน สิ่งแวดล้อมที่เนเธอร์แลนด์จะลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ํามันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 8.8 ในเดือนพฤษภาคม 2565 จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 80 จากปีที่แล้ว
ด้านของเช็ก ภาคเอกชนเช็กต่างเห็นพ้องว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเช็กจะยังชะลอตัวต่อเนื่องตลอดปี 2565 และอาจมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.1 โดยคาดว่าการเติบโตจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่ากลุ่ม SMEs (คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 0.8) และมีแนวโน้มว่า การเติบโตจะเริ่มดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2566 ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและก๊าซที่ต้องนำเข้าจากรัสเซียซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการนำเข้าพลังงานจากเยอรมนีก็มีค่าธรรมเนียมและราคานำเข้าที่สูงขึ้นเช่นกัน อีกทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเป็นปัญหาหลักของภาคอุตสาหกรรมเช็ก
วิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทเอกชนเช็กหลายแห่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณที่ดีจากภาคเอกชนเนื่องจากมีแนวโน้มของการลงทุนเพื่อปรับปรุง และพัฒนาระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับตนเอง และยังพบว่าบริษัทขนาดเล็กในกลุ่ม SMEs มีการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59% ซึ่งมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีเพียง 27% ที่แสดงความประสงค์ว่าจะเพิ่มการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการลงทุนของภาคเอกชนเช็กกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสากรรม 4.0
นอกจากนี้ เดนมาร์กเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย Confederation of Danish Industry (DI) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP เดนมาร์กจะชะลอตัว จากปี 2564 ซึ่งเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.7 และคาดว่าในปี 2565 จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 1.5 ในปี 2566 ซึ่งถึงแม้ว่า GDP ของเดนมาร์กจะลดลง แต่การขาดแคลนแรงงานจะยังคงอยู่ในระดับสูง และกระทบด้านการผลิต เพราะขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามในยูเครนและมาตรการคว่ําบาตรส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครน อีกทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการยกเลิกกิจกรรมการก่อสร้างบางส่วนเนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นและการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
ด้านอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก ราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบที่ยังไม่แปรรูป เช่น ธัญพืช และข้าวโพด ที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลกระทบที่มาจากสงครามในยูเครน DI จึงคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.8 และอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.7 ในปี 2566 ด้านการส่งออก จะเผชิญกับอุปสรรคในช่วงไตรมาสที่ 2 เช่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกสินค้าไปรัสเซีย และการขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นต้น โดย Statistics Denmark ได้รายงานว่า เกือบ 2 ใน 3 ของบริษัทอุตสาหกรรมกําลังเผชิญกับปัญหาข้อจํากัดด้านการผลิต เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และการส่งออกสินค้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในขณะที่ภาคการส่งออกบริการ จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกันก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยอัตราค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้การส่งออกของภาคการขนส่งทางทะเล ดังนั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม คาดว่าจะเติบโตมากกว่าเดิม คิดเป็นร้อยละ 6 ในปี 2565 และร้อยละ 3.5 ในปี 2566 ด้านมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชน ได้ฟื้นตัวหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทําให้มีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้กําลังการซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัวลง DI จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2565 มูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนจะเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.7 และร้อยละ 3.7 ในปี 2566 ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนั้นอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีโดยอยู่ที่ -22.4 ในเดือนพฤษภาคม 2565
จากวิกฤตด้านการค้า เศรษฐกิจ การขาดแคลนทรัพยากร จากสงครมรัสเซีย-ยูเครน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่มีชาติหรือธุรกิจใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนต้องปรับตัวและแสวงหาคู่ค้าทางธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการบริหารจัดการภายในโรงงานและคลังเก็บสินค้า ตลอดจนการการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าและผู้บริโภคผ่านระบบการสื่อสารออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถติดตามความพึงพอใจ ของลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศ อย่างเช่น เช็ก เริ่มนำมาใช้เพื่อปรับตัวภาคธุรกิจให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังสามารถช่วยลดต้นทุนด้านกำลังคนและการใช้พลังงานในการบริหารจัดการคลังเก็บสินค้าและสายการผลิต เช่น การใช้ข้อมูลจาก big data เทคโนโลยี 3D printing และการนำหุ่นยนต์และแขนกลมาช่วยเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิต
สำหรับประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในประเทศส่งออกสินค้าการเกษตรที่สำคัญ เป็นหนึ่งในประเทศที่ต่างชาติกำลังจับตาและเร่งนำเข้าสินค้าเกษตร เนื่องจากหลายประเทศกำลังกักตุนอาหาร และงดการส่งออก ในขณะที่ประเทศไทยมีสินค้าการเกษตรที่มาก และหลากหลาย ทั้งยังมีคุณภาพและราคาถูก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการไทยก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนและห่วงโซ่อุปทานที่ขึ้นราคาด้วยเช่นกัน ดังนั้น การรักษาคมาตรฐานของคุณภาพสินค้าไทย พร้อมพัฒนาอาหารนวัตกรรม สินค้า plant-based สินค้าปลอดสารพิษ หรือการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอาหารลงไปอาจช่วยดึงดูดผู้นำเข้าจากต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น
รูปภาพจาก :
- https://www.brookings.edu/blog/future-development/2022/03/08/developing-economies-must-act-now-to-dampen-the-shocks-from-the-ukraine-conflict/