การลงทุนจากต่างประเทศในสเปนปี 2564 มีมูลค่ารวม 28,785 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาดริดเป็นแคว้นที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงที่สุด ด้วยมูลค่า 20,943 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่แคว้นอื่น ๆ ที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศรองลงมา ได้แก่ คาตาโลเนีย (2,968 ล้านยูโร) บาสก์ (1,537 ล้านยูโร) อันดาลูเซีย (965 ล้านยูโร) บาเลนเซีย (856 ล้านยูโร) และบาเลียแอริก (334 ล้านยูโร)
โดยสาขาธุรกิจที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด คือ (1) การจัดหาพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและลม มูลค่า 5,801 ล้านยูโร (เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 300 ภายใน 1 ปี) (2) การก่อสร้างเฉพาะด้าน (มูลค่า 5,007 ล้านยูโร) (3) การเขียนโปรแกรม (programming) และการให้คำปรึกษา (มูลค่า 1,694 ล้านยูโร) และ (4) การค้าปลีก ไม่รวมยานยนต์ (มูลค่า 1,138 ล้านยูโร) ทั้งนี้ มีลักเซมเบิร์ก (8,690 ล้านยูโร) และฝรั่งเศส (6,710 ล้านยูโร) เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในปี 2564
ตามรายงาน “Sovereign Wealth Funds 2021 : Changes and Challenges accelerated by the Covid-19 Pandemic” ซึ่งจัดทำโดย Center for the Governance of Change มหาวิทยาลัย IE University ของสเปนร่วมกับหน่วยงาน ICEX-Invest in Spain ระบุว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2563 – ธันวาคม 2564 มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) ของต่างประเทศที่ได้ลงทุนผ่าน 12 บริษัทสเปน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2,800 ล้านยูโร โดยกองทุนที่มีบทบาทสำคัญในสเปน ได้แก่ กองทุน GIC (สิงคโปร์) กองทุน Mubadala (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และกองทุน GIA (กาตาร์)
นอกจากนี้ ตามข้อมูล FDI Report 2022 ซึ่งจัดทำโดย FDI Intelligence from the Financial Times Group ระบุว่าในปี 2564 สเปนเป็นประเทศที่รับการลงทุนใหม่ (greenfield investment) จากต่างชาติมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร รวมถึงเป็นประเทศที่รับการลงทุนใหม่ด้านสตาร์ทอัพมากเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร) อีกด้วย
หากเจาะลึกด้านมุมมองของนักลงทุนต่างชาติในสเปน พบว่า ตามรายงานเรื่องดัชนีบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในสเปน (Barometer of the Business Climate in Spain) ปี 2564 ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกสเปนหรือ ICEX ร่วมกับสมาคมบริษัทข้ามชาติ (Foreign Multinationals for the Spain) และมหาวิทยาลัย IESE ระบุว่า ในปี 2564 บรรยากาศการดำเนินธุรกิจในสเปนดีขึ้นกว่าปี 2563 โดยบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปนร้อยละ 93 คาดว่าจะเพิ่มหรือคงการลงทุนในสเปนต่อไปในปี 2565
การศึกษาดังกล่าวระบุด้วยว่า นักลงทุนต่างชาติเห็นว่า สเปนมีจุดเด่นที่เอื้อต่อการลงทุน ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของถนน โครงสร้างและบริการ โทรคมนาคม ท่าอากาศยาน (2) ทรัพยากรมนุษย์ โดยมีบุคลากรที่มีคุณภาพและวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (3) คุณภาพชีวิตในด้านความปลอดภัย การสันทนาการและวัฒนาธรรม นอกจากนี้ ผลการศึกษาปีนี้ยังให้คะแนนบวกกับระบบสาธารณสุขของสเปนเพิ่มอีกด้วย
ขณะที่ข้อควรปรับปรุงที่นักลงทุนต่างชาติพบ ได้แก่ (1) ค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนต่างชาติกังวลในปีนี้ รวมไปถึงค่าก๊าซและน้ำมัน (2) ประสิทธิภาพของศาลแพ่งพาณิชย์ รวมถึงระบบราชการ โดยนักลงทุนต้องการให้มีการปรับปรุงด้านการอำนวยความสะดวกของภาครัฐ เช่น การดำเนินการของศาลแพ่งพาณิชย์ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (3) นวัตกรรม โดยต้องการให้มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านดังกล่าวมากขึ้น และ (4) การชำระเงินประกันสังคม รวมถึงเงินช่วยเหลือการจ้างงาน
แม้ว่าสเปนจะมีข้อควรปรับปรุงในเรื่องค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพของศาล ระบบราชการ และเงินช่วยเหลือการจ้างงาน แต่ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม ท่าอากาศยาน บุคลากรและการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงระบบสาธารณสุขจะเป็นปัจจัยที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ รายงานดัชนีบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในสเปนปี 2564 ยังสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทต่างชาติประเมินสเปนในแง่บวก เนื่องจากเป็นประเทศที่เปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ประกอบกับปัจจัยบวกจากความมั่นคงที่สเปนมีให้แก่นักลงทุน รวมถึงความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนโอกาสการลงทุนที่สเปนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป ยิ่งเป็นสิ่งดึงดูดและลู่ทางให้แก่นักลงทุนต่างประเทศทั่วโลกที่ต้องการเข้าไปลงทุนในสเปน รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์