พัฒนาการด้านการท่องเที่ยวในโอมาน
การพัฒนาในสาขาการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสาขาหลักที่รัฐบาลโอมานให้ความสำคัญภายใต้ ‘Oman Vision 2024’ เนื่องจากการเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยวเป็นกลไกที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคภายหลังโควิด-19 โดยที่ผ่านมาสถานการณ์การท่องเที่ยวได้ปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่โอมานได้ยกเลิกมาตรการตรวจโควิด-19 สำหรับนักท่องเที่ยวขาเข้า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งส่งผลให้สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังโอมานเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตลอดจนได้มีการเปิดเส้นทางบินเพิ่มขึ้น โดยสายการบิน Salam Air ได้กลับมาเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกรุงมัสกัตและจังหวัดภูเก็ต โดยจะเริ่มทำการบินในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 หลังจากที่ได้ระงับเที่ยวบินมาตั้งแต่ปี 2562
นอกไปจากนั้น ในปี 2565 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญตามแนวชายฝั่งทะเลโอมานทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง และคาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ถึง 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในปี 2566 โดยการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Omran รัฐวิสาหกิจด้านการโรงแรมและท่องเที่ยวของโอมาน กับบริษัท Dar Al Arkan ของซาอุดีอาระเบีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณพื้นที่ชายหาดยีติ (Yiti beach) ในเขตกรุงมัสกัต ทั้งนี้ การลงทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาโรงแรมระดับกลางถึงระดับสูง (โรงแรมตั้งแต่ 4 ดาวขึ้นไป) และแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ชาวโอมานได้ท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันชาวโอมานนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ประเด็นนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างงานให้กับชาวโอมานในสาขาดังกล่าวตามนโยบาย Omanization ของประเทศอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการไทย ประเทศโอมานมีความต้องการที่จะให้เอกชนไทยเข้ามาช่วยบริหารจัดการในด้านการบริการ (hospitality) ในโรงแรมขนาดกลางที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกในทั่วประเทศภายในอนาคตอันใกล้ ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท Omran ทั้งนี้ คุณภาพการบริการของไทยนับเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในโอมานเนื่องจากทุกปีมีชาวโอมานเดินทางไปยังประเทศไทยโดยเฉลี่ย 90,000 ราย จากประชากรโอมานทั้งหมด 2.8 ล้านคน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การโรงแรม และงานบริการ สามารถที่จะแสวงหาประโยชน์ผ่านความร่วมมือกับประเทศโอมานได้ต่อไปในอนาคต เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานบริการ หรือ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีศักยภาพ เป็นต้น
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์