เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายศุภสิทธิ์ ปราชญาวงศ์ กรรมการบริหาร (CEO) บริษัท Bluefin Life Technologies สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เพื่อแนะนำตัวและธุรกิจของบริษัทฯ ในโอกาสเดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับบริษัท Ichrogene Inc. บริษัทเทคโนโลยีวิเคราะห์ DNA ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
บริษัท Bluefin Life Technologies เป็นสตาร์ทอัพไทยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ก่อตั้งเมื่อปี 2560 โดยคุณศุภสิทธิ์ฯ และทีมที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้าน consumer genetic test services หรือตรวจและแปลข้อมูล DNA และรวบรวมเป็นฐานข้อมูล
ในอีกด้านหนึ่ง บริษัท Inchrogene Inc. เป็นบริษัทที่ดำเนินงานเกี่ยวกับ genome analysis platform ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาแล้ว 5 ปี โดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลเกาหลีใต้และอีกส่วนหนึ่งจากบริษัท Naver Cloud ตลอดจนได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากหน่วยงาน Korea Disease Control and Prevention Agency (KDCA) ซึ่งจุดเด่นของบริษัท Inchrogene Inc. คือ การใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ DNA ที่สามารถประเมินแนวโน้มการเกิดโรคได้ถึงประมาณ 1,000 โรคจากข้อมูล DNA ของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการใน 55 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และทวีปยุโรป
ทั้งบริษัท Bluefin Life Technologies และบริษัท Inchrogene Inc. ได้จับมือกันร่วมพัฒนาบริการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมเพื่อวินิจฉัยโรคแม่นยำ (precision medical diagnosis service) เพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยงการเกิดโรค (preventive) โดยให้ลูกค้าได้รับทราบและได้ปรับ lifestyle ล่วงหน้า โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชล จ. ชลบุรี สนับสนุนห้องแล็ปทดลอง โดยขณะนี้ ทั้งสองบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาการวินิจฉัยโรคเบาหวานเป็นลำดับแรก ทำให้บริษัท Bluefin Life Technologies เป็นสตาร์ทอัพแรกของไทยที่ให้บริการนี้
นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันพัฒนายารักษาโรคตามลักษณะ genome ของลูกค้าเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องร่วมกันของฐานข้อมูลลูกค้า และนอกจากโครงการ Genome Analysis แล้ว บริษัท Bluefin Life Technologies ยังสนใจร่วมมือกับเกาหลีใต้ในด้านการแพทย์ดิจิทัลอีกด้วย ซึ่งเป็นสาขาที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญโดดเด่น
ศักยภาพของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้มีอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีความสำคัญเชิงยุทศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ Semiconductor โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดก่อนได้กําหนดให้ Bio-health เป็น 1 ใน 3 “Big 3 industries” ที่จะเร่งส่งเสริม และล่าสุดได้ประกาศกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งการพัฒนา โดยเห็นได้จากบริษัทต่าง ๆ เช่น Samsung Biologics และ SK Bioscience ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิต พัฒนายาและวัคซีนโควิด-19
อย่างไรก็ดี กฎระเบียบด้าน biotech startups ในเกาหลีใต้ยังเป็นด่านสำคัญที่ภาคเอกชนเกาหลีใต้เรียกร้องให้ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้มี biotech regulatory sandbox เช่นเดียวกับสาขา fintech การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การสนับสนุนเงินทุนสําหรับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะสร้าง “era of Korean Wave in bio-health” โดยคาดว่า จะจัดตั้งคณะทํางานด้าน Biopharma innovation และจะตั้ง regulatory sandbox รวมถึงกองทุนขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมบริษัทเอกชนด้าน biohealth ในเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนายาด้วยนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาดโลก
จากความร่วมมือข้างต้น เรียกไดว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของความร่วมมือเทคโนโลยีชีวภาพในระดับสตาร์ทอัพระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ที่ควรได้รับการส่งเสริมต่อไป ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ได้กระตุ้นให้ผู้คนสนใจเกี่ยวกับ Digital Health มากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสสําหรับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ lifestyle ของคนไทยที่นิยมใช้ application และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (smart wearable devices) ทําให้ Digital health เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและมีลู่ทางเติบโตได้อีกมาก