ภาพรวมการค้าไทย–อินเดีย
ในปี 2564 อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่า 14,940 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 53 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,127 ล้านเหรียญสหรัฐ ในภาคการส่งออกระหว่างไทยและอินเดีย ปี 2564 ไทยส่งออกมูลค่า 8,534 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 55 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ไขมันจากพืช อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และทองแดง ตามลำดับ ในส่วนของภาคการนำเข้าระหว่างไทยและอินเดีย ปี 2564 ไทยนำเข้าสินค้าจากอินเดียเป็นมูลค่ารวม 6,906 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 49 โดยสินค้าหลัก ได้แก่ เพชรพลอย อัญมณี เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เศษโลหะ เหล็ก ยาและเวชภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
ภาพรวมการลงทุนไทย – อินเดีย
ในปี 2564 มีโครงการของนักลงทุนจากอินเดียที่ยื่นขอลงทุนในประเทศไทยผ่าน BOIรวม 19 โครงการ มีมูลค่ารวม 4,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2563 ถึง 2,945 ล้านบาท โดยในปี 2563มี 13 โครงการ มีมูลค่ารวม 1,303 ล้านบาทสาขาที่นักลงทุนอินเดียสนใจไปลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอุตสาหกรรมเบา/สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และกระดาษ แร่และเซรามิกส์ และอุตสาหกรรมบริการล่าสุด ในปี 2565 บริษัท ACG ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแคปซูลยาขนาดใหญ่ของอินเดียซึ่งส่งออกกว่า 138 ประเทศทั่วโลก ได้ยื่นขอลงทุนสร้างโรงงานผลิตแคปซูลในจังหวัดระยองในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
Photo by Aditya Siva on Unsplash
ภาพรวมการท่องเที่ยวไทย–อินเดีย
ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวคนอินเดียไปท่องเที่ยวไทยรวม 1.96 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.48 นักท่องเที่ยวอินเดียจัดว่าเป็นประเทศลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 6 ประเทศที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยสูงสุดในปี 2561 โดยตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียสร้างรายได้ 80,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.96 เมื่อเทียบกับปี 2561 ล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เฉลี่ยประมาณวันละ 500 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวอินเดียเข้าไทยสูงเป็นอันดับ 5 รองจาก อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
โอกาสทางการค้า ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทยและอินเดียสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือ 2 ประการที่จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้า-ส่งออก ได้แก่ (1) FTA ระหว่างไทยกับอินเดีย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกผ่านการลดหรือยกเว้นภาษีให้กับสินค้าจำนวน 83 รายการ (2) FTA ระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกผ่านการลดหรือยกเว้นภาษีให้กับสินค้า 5,000 รายการ ทำให้ผู้นำเข้าและส่งออกส่วนใหญ่จะใช้ FTA เชิงพหุภาคีนี้มากกว่า FTA ทวิภาคีระหว่างไทยกับอินเดีย ทั้งนี้ สินค้าที่มีโอกาสทางการค้าสำหรับตลาดไทยและอินเดีย ได้แก่ อัญมณี เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์รวมทั้ง EV เหล็ก ยาและเวชภัณฑ์ และสินค้าใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เนื้อจากพืช (Plant-based Meat) อาหารสำเร็จรูปและพร้อมรับประทาน ขนมมังสวิรัติ อาหารสัตว์ ของใช้และของตกแต่งบ้าน
โอกาสทางการลงทุน ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ อาทิ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC) ที่ได้พัฒนาระบบ Logistics อย่างครบวงจร เพื่อให้นักลงทุนสามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนนโยบาย BCG ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งนักลงทุนไทยกับอินเดียสามารถร่วมมือกัน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ EV และพลังงานทดแทน ซึ่งทั้งรัฐบาลไทยและอินเดียต่างให้ความสำคัญและมีโอกาสเติบโตอีกมาก นอกจากนี้ ไทยกับอินเดียยังมีความร่วมมือ Double Taxation Avoidance Agreement (DTAA) ที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับนักลงทุนอินเดียที่สนใจไปลงทุนในประเทศไทยได้อีกด้วย
โอกาสด้านการท่องเที่ยว สำนักงานท่องเที่ยวไทยประจำเมืองมุมไบได้ทำการสำรวจบริษัททัวร์ของอินเดียกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 94 ระบุถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวอินเดียในการเดินทางไปไทย และยังมีคนอินเดียประสงค์จะเดินทางไปประเทศไทยเพื่อจัดงานแต่งงานหรือการประชุมสัมมนาต่าง ๆ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวอินเดียยังมีพฤติกรรมที่ประสงค์ให้บริษัททัวร์ช่วยให้บริการด้านการสำรองบัตรโดยสารเครื่องบิน การสำรองที่พักตลอดจนการจัดโปรแกรมทัวร์ต่าง ๆ เพื่อเดินทางเป็นหมู่คณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจด้านการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเติบโตได้ดีในปีนี้
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์