“บาห์เรน” เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับโดย Heritage Foundation ว่าเป็นประเทศที่มีอิสระภาพทางการเงิน การลงทุน และการค้าสูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ประจำปี 2564 ถึงแม้ว่าตลาดในประเทศจะมีขนาดเล็ก กําลังซื้อน้อย และนักลงทุนหลายรายอาจมองว่า ไม่คุ้มทุน เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งบาห์เรน และธนาคารโลก (World Bank) กลับมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศษฐกิจที่สำคัญของบาห์เรนอย่างมีนัยสำคัญ
สถานการณ์เศรษฐกิจบาห์เรน
บาห์เรนคาดการณ์ GDP ปี 2565 ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ขณะ World Bank คาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5
กระทรวงการคลังบาห์เรนปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ Real GDP Growth ปี 2565 เป็นร้อยละ 4.1 จากเดิมที่ร้อยละ 3.26 – 3.49 เนื่องจากตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/2564 เติบโตถึงร้อยละ 4.3 ส่งผลให้การเติบโต GDP ทั้งปี 2564 เท่ากับร้อยละ 2.29 ขณะที่ปี 2563 GDP หดตัวร้อยละ 4.9 จากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2565 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจบาห์เรนกําลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกเติบโตถึงร้อยละ 64.7 (YoY) ยอดการจองโรงแรม 4 – 5 ดาว สูงขึ้นร้อยละ 55 การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9
ด้านรายงานธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจบาห์เรนในปี 2565 จะเติบโตร้อยละ 3.5 โดยปัจจัยหลัก คือ ราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รายได้ที่ไม่ใช่จากการส่งออกน้ํามันในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น และผลสําเร็จของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งบาห์เรนมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) รวมทั้งมาตรการทางสาธารณสุขที่ผ่อนปรน ล้วนส่งผลดียิ่งต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และการบริการ อย่างไรก็ดี อุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงของบาห์เรน คือ มาตรการลดรายจ่ายภาครัฐเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 2,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะยังขาดดุลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566
บาห์เรนมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงสุดใน GCC
ธนาคารกลางบาห์เรน (Central Bank of Bahrain : CBB) และหน่วยงาน Information and eGovernment Authority (IGA) เปิดเผยข้อมูล FDI per Capita ในปี 2564 บาห์เรนได้รับการจัดอันดับสูงที่สุดในกลุ่ม GCC (ร้อยละ 92) สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน โดยประเทศที่ลงทุนในบาห์เรน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) หมู่เกาะเคย์แมน (2) คูเวต และ (3) ซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาธุรกิจการเงิน (432 ล้านดีนาร์บาห์เรน) รองลงมาคือภาคการผลิต (238.9 ล้านดีนาร์บาห์เรน) ที่เหลือได้แก่ พลังงานทางเลือก (solar) การบริหารจัดการเชิงสุขภาพ และการบ่มเพาะทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ Fitch Ratings ยังได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบาห์เรนให้อยู่ในในระดับ B+ (Stable Outlook) ขณะที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับ BBB+/Baa1 ซึ่งเป็นระดับที่น่าเชื่อถือกว่า
แนวโน้มและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของบาห์เรน
ในภาพรวม บาห์เรนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนหลักด้านราคาน้ํามัน ซึ่งบาห์เรนส่งออกเล็กน้อย และการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจตามปกติหลังโควิด ทําให้ภาคบริการและท่องเที่ยว กลับมาสู่ปกติ รวมทั้งเงินกองทุนสนับสนุนจาก GCC โดยซาอุดีอาระเบีย ยูเออีและ คูเวต ที่นําไปลงทุนในโครงการใหญ่ของรัฐ เช่น การสร้างโรงงานบําบัดน้ําเสีย โครงการบ้านจัดสรรอาทร 40,000 หลังใน 5 เมือง การจัดตั้งเขตการค้าสหรัฐ (USIZ) ที่ Salman Industrial City โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า (Bahrain Metro) ระยะที่ 1 รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชายหาดและสร้างโรงแรม เป็นต้น
ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของบาห์เรนในปี 2565 น่าจะยังคงดําเนินไปได้อย่างราบรื่น ทั้งในเรื่องการปฏิรูปตลาดแรงงานหรือกฏระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้ออํานวยต่อธุรกิจและดึงดูด FDI แต่อาจประสบข้อจํากัดสําคัญ คือสถานะการคลังของรัฐบาล โดยจะพยายามให้มีงบประมาณสมดุล ภายในปี 2570 ซึ่งรัฐบาลบาห์เรนคงคาดหวังให้ราคาน้ํามันยังคงอยู่ระดับสูงต่อเนื่องอย่างน้อย 1 – 2 ปี
สําหรับเป้าหมายดึงดูด FDI ให้ได้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ปัจจัยหลักที่จะช่วยดึงดูด FDI ของบาห์เรนได้ คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการดําเนินธุรกิจ กฎระเบียบที่มีความชัดเจนและไม่ได้เข้มงวดมาก เมื่อเทียบกับกฎระเบียบของประเทศกลุ่ม GCC รวมทั้งค่าใช้จ่ายการดําเนินธุรกิจที่ต่ํากว่าของซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และกาตาร์ ถึงร้อยละ 30 – 40
แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของบาห์เรนนี้น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกรถยนต์ อัญมณี เครื่องประดับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ในระยะสั้น โดยคาดว่าจะมีจํานวนการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศได้เป็นปกติแล้ว ก็เป็นสัญญาณแนวโน้มที่ดีที่สายการบินต่าง ๆ จะพิจารณาเพิ่มจํานวนเที่ยวบินมาไทย – บาห์เรน ซึ่งตามปกติสายการบินประจําชาติบาห์เรน Gulf Air จะมีเที่ยวบินตรงทุกวัน (7-10 เที่ยวบิน / สัปดาห์) โดยจํานวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่จะลดลง และทําให้สินค้าไทยที่นําเข้ามาขายในบาห์เรนมีราคาที่ต่ำลง