เขตหนานคางของเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี กําลังเร่งพัฒนาระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
(1) การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ อาทิ การจัดตั้งศูนย์การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ อัจฉริยะซึ่งได้ดึงดูดสถาบันการออกแบบที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมกว่า 350 แห่ง รวมทั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์กว่า 1,200 คน การสร้างฐานการผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งอัจฉริยะ และศูนย์เตรียมวัสดุและพ่นสีอัจฉริยะ
(2) การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ การใช้ Internet of Things (IoT) สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ทันสมัยทั้งระบบ ตั้งแต่การซื้อขาย การออกแบบ การจัดซื้อวัสดุ การแปร รูปวัสดุ การผลิตและการประกอบ การขัดและการฉีดพ่นสี การขนส่ง และการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะแห่งแรกของประเทศ
(3) การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการภาครัฐดิจิทัล อาทิ การสร้างศูนย์ Big Data เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งทั้งระบบ การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับแนะนําผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และจับคู่ทางธุรกิจ การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีโดยมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจสอบและอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของหนานคางให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในปี 2564 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคางมีมูลค่าการผลิตเท่ากับ 2.27 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ติดอันดับรายชื่อฐานสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงที่สุด 10 อันดับแรกของประเทศ และมีมูลค่าการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 7 หมื่นล้านหยวน
ทางด้านประเทศไทย อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยในปัจจุบัน เนื่องจากส่วนใหญ่ไทยเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะและนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรปมากกว่าเป็นฐานการผลิต ซึ่งเป็นผลจากไทยยังไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่จะสามารถนำมาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะได้แบบจีน ดังนั้น ภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างความร่วมมือในด้านนี้กับจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การทำงานที่บ้าน (work from home) และการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันที่ผู้คนชอบความสะดวกสบายและต้องแข่งขันกับเวลา ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยอย่างยั่งยืน
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์