ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐไบเอิร์น ได้กระตุ้นให้ภาคธุรกิจค้าปลีกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจของตน ผ่านการจัดงานมอบรางวัล “Digital Champions in Bavarian Retail” ให้แก่ธุรกิจที่ปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ซึ่งงานมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2563 เนื่องจากรัฐไบเอิร์นเล็งเห็นความจำเป็นของเทคโนโลยีในการช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในปัจจุบัน และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจค้าปลีกในการสร้างกลยุทธ์ทางด้านดิจิทัลของตนเอง
สำหรับปี 2564 ที่ผ่านมา มีภาคธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว 5 บริษัท ดังนี้
1. บริษัท Mobel Fischer GmbH บริษัทเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดําเนินธุรกิจทุกขั้นตอนเพื่อลดการใช้กระดาษ
2. บริษัท ELEO GmbH พัฒนาโปรแกรม ELEO-Pavillon-Online Shop ทําให้ลูกค้าสามารถออกแบบประตู รั้ว และศาลาตกแต่งสวนให้เหมาะกับสถานที่ของตนได้เองแบบเสมือนจริง
3. บริษัท Spielkiste ร้านค้าปลีกจําหน่ายของเล่นที่ทําจากไม้คุณภาพสูง ได้พัฒนาโปรแกรม SimpleSell เชื่อมโยงระหว่างร้านกับบริษัทส่งของโดยตรงเพื่ออํานวยความสะดวกในการส่งของให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกวิธีจัดส่งที่ตนเองต้องการได้ในขั้นตอนเดียว
4. บริษัท Sport Lang พัฒนาระบบการประชุมแบบเสมือนจริงด้วยเทคนิคการสร้างภาพวัตถุต่าง ๆ จากระยะไกลด้วยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ทําให้ลูกค้าเยี่ยมชมร้านค้าและสินค้าได้จากที่บ้าน โดยมี หุ่นยนต์ชื่อ Thorsten ให้บริการแนะนําสินค้า
5. บริษัท Frischemarkt Popp ร้านค้าปลีกจําหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสําหรับซื้อสินค้า โดยลูกค้าสามารถสแกนสินค้าที่ตนเองต้องการด้วยโทรศัพท์มือถือ นําสินค้าใส่รถเข็น เดินผ่านจุดตรวจก่อนออกจากร้าน จากนั้นลูกค้าสามารถชําระเงินผ่านแอปพลิเคชันได้โดยตรงโดยไม่ต้องต่อแถว
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจไอเดียการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุง พัฒนาธุรกิจ สามารถติดตามดูได้ที่เว็บไซต์ https://digitale-champions.bayern/projekt
นอกจากการสร้างแรงบันดาลใจให้ภาคเอกชนปรับตัวตอบรับเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว รัฐไบเอิร์น ยังมีความร่วมมือกับรัฐอื่น ๆ ในเยอรมนีเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจอีกด้วย โดยล่าสุด ได้มีความร่วมมือระหว่างรัฐไบเอิร์น รัฐบาเดิน-เวอร์ทเทมแบร์ก และรัฐนอร์ดไรน์ เวสฟาเลิ่น
ที่ร่วมกันพัฒนา Corporate Platform สําหรับภาคธุรกิจเป็นครั้งแรกในเยอรมนี โดย platform นี้จะทําหน้าที่เสมือน One-stop service สําหรับผู้ประกอบการในทั้ง 3 รัฐ ตั้งแต่การขอจดทะเบียนการค้าไปจนถึงการขอใบอนุญาตจอดรถ โดยในระยะแรกรัฐบาลกลางจะสนับสนุนงบประมาณ 3.9 ล้านยูโรให้แก่ 3 รัฐ เพื่อนำร่องพัฒนาระบบเนื่องจากมีส่วนแบ่งอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศสูง และมีแผนที่จะขยายการพัฒนา platform ในลักษณะเดียวกันในรัฐอื่น ๆ ในระยะต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน อีกทั้งการระบาดของ Fi8 โควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้จากจุดนี้และมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตของธุรกิจในสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์