การจัดทำความตกลง UK-Singapore Digital Economy Agreement (UKSDEA)
.
ปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นประเทศคู่ค้าภาคบริการในยุโรปรายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ เมื่อปี 2562 การค้าภาคบริการระหว่าง 2 ประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่ง 70% เป็นการค้าแบบดิจิทัล
.
ทั้งนี้สิงคโปร์และสหราชอาณาจักรได้บรรลุการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลแบบทวิภาคีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยความตกลง UKSDEA มีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมการค้าดิจิทัลที่ครบวงจร (end-to-end digital trade) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าดิจิทัลแบบไร้รอยต่อทั้งในด้านการชำระเงินออนไลน์และการการออกใบแจ้งหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการออกเอกสารทางการค้าที่เกี่ยวข้องแบบดิจิทัล (paper-less trading) ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม รวมถึงลดต้นทุนทางธุรกิจ (2) การส่งเสริมความลื่นไหลของข้อมูลที่เชื่อถือได้ (trusted data flows) โดยจัดทำมาตรฐานในการปกป้องข้อมูลผู้บริโภคออนไลน์ Cryptography การปกป้องการเข้ารหัสต้นฉบับ (Source Code Protection) และการวางเงื่อนไขการห้าม data localization ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบการเงิน และ (3) การอำนวยความสะดวกสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่เชื่อถือได้และมั่นคงปลอดภัย (trusted and secure digital environment) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึงธุรกิจ SMEs
.
ความตกลง UKSDEA จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจระหว่างสิงคโปร์และสหราชอาณาจักร ได้แก่ (1) MoU in Digital Trade Facilitation (2) MoU on Digital Identities Cooperation และ (3) MoU on Ceber Security Cooperation ซึ่งจะช่วยสร้างกฎระเบียบทางการค้าและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับสากล และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ
.
การจัดทำความตกลง Korea-Singapore Digital Partnership Agreement (KSDPA)
.
เมื่อปี 2563 สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 8 ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีมูลค่าการค้าทวิภาคี 44,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สิงคโปร์ได้บรรลุการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับเกาหลีใต้
.
มีสาระสำคัญของความตกลง KSDPA ใกล้เคียงกับ UKSDEA ได้แก่ (1) การส่งเสริมการค้าดิจิทัลครบวงจร (2) การส่งเสริมความลื่นไหลของข้อมูลที่เชื่อถือได้ (รวมภาคการเงิน) และการจัดทำโมเดลธุรกิจ อาทิ Software-as-a-Service เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และ (3) การส่งเสริมความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัลและมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล
.
นอกจากสิงคโปร์ได้บรรลุความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับทั้งสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว สหภาพยุโรป (EU) ยังแสดงความสนใจเจรจาจัดทำความตกลง Digital Partnership Agreement กับสิงคโปร์ด้วย โดยความสนใจดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจและแรงงาน ทั้งนี้ สิงคโปร์เชื่อมั่นว่า ความตกลงดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง EU กับอาเซียนต่อไป ทางด้านประเทศไทยที่เป็นประเทศสมาชิกในอาเซียนนั้นได้จัดทำ MoU ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย (ดศ.) กับกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศของสิงคโปร์ (MCI) ซึ่งเน้นมิติทางสังคม สารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ควรติดตามความเคลื่อนไหวในการจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจการค้าดิจิทัลระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ควบคู่กับการศึกษาข้อมูลด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับด้านสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกับสิงคโปร์ พร้อมเชื่อมโยงสู่อาเซียน ยุโรป และนานาประเทศต่อไปในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์