เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก ได้พบหารือกับผู้บริหาร Central European Institute of Technology, Brno University of Technology (CEITEC BUT) ประสานความร่วมมือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างไทยกับเช็ก
.
ในการหารือ ได้กล่าวถึงการสานต่อความร่วมมือเครือข่ายระหว่าง CEITEC BUT กับสถาบันวิทยาศาสตร์ของไทย เช่น สทอภ. สนช. และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยให้ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่มีศักยภาพ รวมถึงการศึกษาพื้นที่ EECi ของไทย ซึ่งพบว่าสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีอวกาศ เป็นสาขาที่เช็กมีศักยภาพสามารถร่วมมือกับไทยได้
.
โดยในสาขาเทคโนโลยีอวกาศ CEITEC เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Brno Space Cluster (BSC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการตลาด การให้บริการวิศวกรรมอวกาศ และแสวงหาความร่วมมือด้านอวกาศใหม่ ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าสนใจสำหรับภาคเอกชน SMEs และสตาร์ทอัพไทยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศในการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะทางธุรกิจของเช็ก
.
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลโครงการ SPACE-F ครั้งที่ 4 ของ สนช. (https://www.space-f.co/) เพื่อดึงดูดให้สตาร์ทอัพของเช็กเข้าร่วมโครงการของไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2565 อีกด้วย โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีการแพทย์ และเทคโนโลยีการท่องเที่ยวซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งด้าน CEITEC แจ้งว่ายังมีช่องทางความร่วมมือด้านการศึกษาอีกมาก รวมถึงการมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกหลักสูตรนานาชาติสำหรับสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย (https://amn-phd.ceitec.cz/financing-of-graduate-study/)
.
นับได้ว่า เป็นความร่วมมือแขนงใหม่ที่น่าสนใจไม่เฉพาะกับภาคเอกชน แต่รวมไปถึงผู้สนใจทั่วไป และนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังมองหาลู่ทางพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาอวกาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามแผน Thailand 4.0 อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก