เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee – FOMC) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (federal funds rate) เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2561 โดยมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 0.25 – 0.50 โดยได้ระบุถึงปัญหาการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้า และพลังงาน ปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงต้องการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มอัตรา และคงอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ในระยะยาว นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแผนลดการถือครองตราสารหนี้รัฐบาล และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันที่ออกโดยรัฐบาลในการประชุมครั้งต่อไป
.
การคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ
.
ธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 0.25 ตลอดปี 2565 โดยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวไปอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ในช่วงสิ้นปี 2565 ร้อยละ 2.8 ในปี 2566 – 2567 และร้อยละ 2.4 ในระยะยาว ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวสูงกว่าอัตราที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2565 ร้อยละ 1.6 ในปี 2566 และร้อยละ 2.1 ในปี 2567 นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 2.7 ในปี 2566 และ 2.3 ในปี 2567 ส่วนอัตราการว่างงานคาดการณ์ว่าอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2565 – 2566 และร้อยละ 3.6 ในปี 2567 ในขณะที่ประมาณการของอัตรา GDP ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในปีนี้ ร้อยละ 2.2 ในปี 2566 และร้อยละ 2 ในปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ
.
นโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เป็นการปรับอย่างก้าวกระโดมากที่สุดในรอบ 15 ปี เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ราวร้อยละ 2.75 – 2.8 ในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งยังถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับแต่ปี 2551 นักวิเคราะห์จึงได้คาดการณ์ถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคว่า อัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการขยายกิจการ การจ้างงาน ตลาดหุ้นที่จะเริ่มชะลอตัวลง รวมถึงราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับตัวลดลงด้วย
.
ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยวิเคราะห์ไว้ว่า หากพิจารณาจากเสถียรภาพทางการเงินของไทยที่มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศน้อย มีเงินทุนสำรองสูง และการที่ภาคธุรกิจไทยมีการระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ระดมทุนผ่านเงินฝากในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เชื่อว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยจากการปรับดอกเบี้ยจะมีน้อยกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน