เมียนมาเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดท้องถิ่น
.
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 นาย Yu Jian Chen กรรมการผู้จัดการ บริษัท Khaingkhaing Sangda Group Limited ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใน Thadukan Industrial Zone ในเขต Shwe Pyi Thar กรุงย่างกุ้ง เตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า HYBIRO Electronic Vehicle KSDV1-NE2 ในตลาดเมียนมาในช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบในเมียนมาเป็นครั้งแรก อาศัยเทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าจากจีน และจะกําหนดราคาขายที่เหมาะสม เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในภาวะที่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงมีความผันผวน ซึ่งรถยนต์รุ่น KSDV1-NE2 นี้ ใช้แบตเตอร์รี่ Lithium ระยะเวลาการชาร์จไฟฟ้า 5 ชั่วโมง สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วประมาณ 70 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ระยะทางสูงสุด 800 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง จึงสามารถช่วยอํานวยความสะดวกสําหรับการเดินทางในเขตเมือง รวมทั้งการเดินทางไกล นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดค่าน้ำมันและเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
.
ค่าครองชีพในเมียนมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน 92 เบนซิน 55 ดีเซลปกติและดีเซลพรีเมียม มีการปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก ทําให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าในเมียนมาเพิ่มขึ้นมาก และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
.
ในด้านสินค้าบริโภค ผู้ประกอบการหลายรายในเมียนมาได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนดในการจํากัดปริมาณนําเข้าน้ำมันปาล์มของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กอปรกับค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ทําให้ราคาขายน้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นจาก 3,000 จั๊ตต่อ Viss (อัตราการชั่งท้องถิ่น 1 Viss เท่ากับ 1.63293 กิโลกรัม) มาอยู่ที่ 4,000 จั๊ต อีกทั้งน้ำมันถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามราคาต้นทุนการขนส่ง ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบการค้าน้ำมัน เมียนมาจึงได้แนะนําให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างประหยัดและควรลดการปริมาณการใช้น้ำมันในอาหารลง ด้านผู้ประกอบการร้านขายอาหารสําเร็จ เห็นพ้องกันว่าสินค้าบริโภคขั้นพื้นฐานในเมียนมามีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อยอดขายในแต่ละวันด้วย สังเกตจากราคาหัวหอมแดงในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นจาก 738 จั๊ต เป็น 1,100 จั๊ต กระเทียมและพริกสดเพิ่มขึ้นเป็น 6,111 จั๊ตต่อ Viss นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวันอื่น ๆ มีราคาสูงขึ้นประมาณสองเท่า เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน กาแฟ ชา
.
ด้วยเหตุนี้ร้านขายอาหารสําเร็จรูปและร้านขายของชําจํานวนมากจึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น ทำให้หลายแห่งต้องปิดกิจการลงเนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว และถึงแม้จะปรับตัวขายสินค้าทางออนไลน์ แต่ยังต้องแบกรับต้นทุนจากค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่สูงและปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง
.
เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ได้ขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นหนึ่งในความพยายามของ CBM ในการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและควบคุมค่าครองชีพไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ทางการเมียนมาได้จัดโครงการจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชนในราคาพิเศษ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
.
จากความเคลื่อนไหวข้างต้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากความขัดแย้งของรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานผันผวน อย่างไรก็ตาม เมียนมาอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อรัสเซียในหลาย ๆ ด้าน ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจในเมียนมาหรือกำลังวางแผนลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายให้เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง
.
อ้างอิง:
https://www.myawady.net.mm/node/22813
https://burma.irrawaddy.com/news/2022/03/08/250389.html