เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายกาน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้แถลงต่อรัฐสภาสิงคโปร์ในช่วงการอภิปรายงบประมาณ ประจำปี ค.ศ. 2022 ว่า ถึงแม้ว่ายูเครนจะอยู่ห่างไกลจากสิงคโปร์ แต่ความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนทุกคนของสิงคโปร์ เนื่องจากการร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย ในฐานะประเทศผู้ส่งออกพลังงานของโลก ย่อมทำให้อุปสงค์และราคาพลังงานในตลาดโลกและสินค้าอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งโดยทั่วไป สิงคโปร์ต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดของการบริโภคในประเทศ
.
การที่สิงคโปร์ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียแม้จะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์เอง แต่สิงคโปร์เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการและขอให้ประชาชนเข้าใจร่วมกัน โดยในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ ค่าไฟฟ้าทั้งที่ใช้ในครัวเรือนและในภาคธุรกิจในสิงคโปร์อาจปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่สูงขึ้นด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์จะสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 2.5 – 3.5
.
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีจำนวนธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในยูเครนไม่มาก และไม่ได้นำเข้าสินค้าจำเป็นจากยูเครนเท่าใดนัก ดังนั้น ในปัจจุบัน สิงคโปร์จึงยังควบคุมผลกระทบจากวิกฤตในยูเครนได้ โดยใช้ยุทธศาสตร์หลายมิติ (multi-pronged strategy) เพื่อสร้างความยืดหยุ่นแก่ห่วงโซ่อุปทานและกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ได้ประเมินว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 สิงคโปร์จะดำเนินนโยบายเพื่อรับมือจากผลกระทบของวิกฤตราคาพลังงานในตลาดโลก จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงเป็นประวัติการณ์ และราคาน้ำมัน WTI crude ที่สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี รวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และวิกฤตเงินเฟ้อใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ (1) ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในรายสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ (vibrant, diversified and resilient economy) ในสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอนและไม่ปกติ (2) ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบแข็งค่า เพื่อบรรเทาปัญหาการนำเข้าพลังงานและสินค้าราคาสูงที่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ และ (3) ควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ตามการแถลงงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2022
.
ผลกระทบในครั้งนี้ส่งผลให้สิงคโปร์ต้องการเร่งกระชับความร่วมมือกับไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืน ความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิตและการส่งเสริมพลังงาานสะอาด ส่วนในด้านของการค้า RCEP เป็นอีกหนึ่งทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิก รวมถึงไทยด้วย ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือด้านพลังงานของผู้ประกอบการไทยในสิงคโปร์ เพียงแต่ควรคำนึงถึงด้านพลังงานสะอาด ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเพื่อสอดคล้องต่อนโยบายของสิงคโปร์ยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์