นาย Mark Lempp บรรณาธิการข่าวธุรกิจ หนังสือพิมพ์ The Jakarta Post ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสกุลเงินร่วมดิจิทัลในอาเซียน โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2558 แต่ปัจจุบัน ยังมีพัฒนาการที่จำกัด โดยเฉพาะ การหารือในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงยังเป็นอุปสรรคต่อการผสาน (harmonization) ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เข้ามาท้าทาย เช่น การเกิดความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งเป็นการเจรจาเขตการค้าเสรีที่ขยายขอบเขตออกไปนอกอาเซียน และครอบคลุมประเทศที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี วิสัยทัศน์ของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนยังคงอยู่ และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องการค้าเสรีเท่านั้น แต่รวมถึงการร่วมมือของอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน ความร่วมมือทางการเมือง และการส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งคล้ายกับเป้าหมายของ European Community ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นสหภาพยุโรป ยกเว้นเรื่องเดียวคือการมีสกุลเงินร่วม
.
สกุลเงินร่วมดิจิทัล ASEAN จะเป็นไปได้หรือไม่ ?
นาย Lempp มีความเห็นว่า การมีสกุลเงินร่วมจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน เอื้อต่อการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกัน โดยงานศึกษาเรื่อง “Costs and Benefits of a Common Currency for ASEAN” เมื่อปี 2545 ของ Asian Development Bank (ADB) ระบุว่า อาเซียนเหมาะสมที่จะใช้สกุลเงินร่วมเช่นเดียวกับยุโรป ที่มีสกุลเงิน Euro แม้ว่าการมีสกุลเงินร่วมจะมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น อาจจำกัดเครื่องมือทางการเงินของรัฐบาล ซึ่งอาจแทนที่ด้วยใช้เครื่องมือทางการคลังแทน
.
นอกจากนี้ นาย Lempp ยังให้ความเห็นว่า อาเซียนอาจต่อยอดไปสู่การมีสกุลเงินร่วมดิจิทัล โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี blockchain ที่ทำให้การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเกิดขึ้นเกือบทันทีและแทบจะไม่มีต้นทุน ซึ่งจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเจรจาเพื่อตกลงให้มีสกุลเงินร่วมดิจิทัลคงจะใช้เวลานาน แต่อาเซียนอาจพิจารณาเริ่มนำสกุลเงินร่วมดิจิทัลมาใช้เป็นระยะ เริ่มจากการนำเข้าและส่งออก ก่อนจะขยายสู่การค้าส่ง ค้าปลีก และการทำธุรกรรมส่วนบุคคล โดยอาเซียนอาจศึกษาโมเดลของ Eastern Caribbean Central Bank ที่ปล่อยสกุลเงินดิจิทัล DCash ให้ประเทศในภูมิภาคใช้งาน
.
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการมีสกุลเงินร่วมของอาเซียนยังคงมีข้อจำกัด 3 ประการ ได้แก่
(1) การต้องอาศัยความเห็นพ้องร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างสกุลเงินอาเซียน
(2) ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน และจำเป็นต้องใช้นโยบายทางการเงินที่ต่างกันในการแก้ปัญหา เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงหรือต่ำ ปริมาณการส่งออกตกต่ำ และวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ การมีสกุลเงินร่วมจึงไม่มีความยืดหยุ่นให้แต่ละประเทศสามารถใช้นโยบายทางการเงินที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ได้
(3) ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก
.
การมีสกุลเงินร่วมอาจเป็นทางเลือกสำหรับบางประเทศสมาชิกที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและมีนโยบายคล้ายกัน ซึ่งต้องการลดต้นทุนที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งหากอาเซียนจะมีสกุลเงินร่วม ไทยจะต้องนำวิธีการคำนวณค่าเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ มาพิจารณาด้วย โดยปัจจุบัน การยอมรับสกุลเงินซึ่งกันและกันสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเริ่มมีมากขึ้นแล้ว เช่น ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ไทย-สิงคโปร์
.
นอกจากนี้ สาธารณชนในอาเซียนมีความตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินดิจิทัลและสนใจความเป็นไปได้ของสกุลเงินร่วมดิจิทัลในอาเซียน เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมด้านการรองรับนักธุรกิจต่างชาติในกรณีที่อาเซียนมีการใช้สกุลเงินร่วมดิจิทัล ที่จะมีผลต่อต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและการลงทุนที่รองรับสกุลเงินร่วมดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
.
คผถ. ไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา