การแพร่ระบาด COVID-19 ได้เร่งให้เกิดการนำวัสดุทางการแพทย์มาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อควบคุมและป้องกันโรคระบาด แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาคือปัญหาขยะจากวัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางและหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นมาก และเนื่องจากเป็นวัสดุการแพทย์ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงไม่สามารถย่อยสลายเองได้ และต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธี
.
นอกจากขยะวัสดุทางการแพทย์แล้ว จากผลสำรวจเมื่อปี 2562 อุตสาหกรรมการผลิตอาหารโลกมีมูลค่ามหาศาลราว 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ส่งผลให้ขยะจากใยพืช กากอาหาร และขยะอาหารมีปริมาณเพิ่มขึ้นทั่วโลกด้วย แต่ขยะเหล่านี้สามารถนำกลับมาเข้ากระบวนการใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency – NEA) สิงคโปร์ รายงานว่า เมื่อปี 2563 ขยะอาหารในสิงคโปร์ได้รับการรีไซเคิล 126,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณทั้งหมด 665,000 ตัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบกับปี 2562 ที่ร้อยละ 18 ถึงแม้ว่าการรีไซเคิลขยะอาหารมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ขยะอาหารส่วนเกินจะถูกนำไปทำลายโดยการเผา ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ carbon footprint ดังนั้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารจึงเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับปัญหาขยะอาหารและ carbon footprint ที่ทั่วโลกสนใจยิ่งขึ้น
.
การเพิ่มมูลค่าขยะอาหารผ่านทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร
.
ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พยายามนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ด้านอาหารมาใช้ในทางการแพทย์ด้วย เพื่อลดปริมาณขยะและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำขยะอาหารและกากอาหารจากกระบวนการผลิตสินค้า เช่น ชานอ้อย กากถั่วเหลือง กากกาแฟ กากมอลท์จากการผลิตเบียร์ และนมผงแปรรูป มาเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University – NTU) ได้นำขยะอาหารมาประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ ได้แก่
.
(1) สารต้านจุลชีพ (antimicrobial) สิงคโปร์ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยป้องกันแบคทีเรียชนิดใช้ซ้ำให้ทุกครัวเรือน ซึ่งมีคุณสมบัติการต่อต้านแบคทีเรียที่อยู่บนพื้นผิวของหน้ากากที่เป็นผลมาจากการกระบวนแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ นอกจากนี้ สารต้านจุลชีพเดียวกันนี้ยังนำมาผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นอีกด้วย
.
(2) ไคติน (chitin) เป็นสารตั้งต้นของไคโตซาน (chitosan) ซึ่งถูกใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ การเกษตร เครื่องสำอาง และทางด้านอาหาร โดยมหาวิทยาลัย NTU ได้วิจัยเพื่อสกัดสารไคตินจากเปลือกกุ้งที่หมักในน้ำกากองุ่นแดง ซึ่งเป็นวิธีผลิตแบบใหม่ที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวอย่างการสร้างโอกาสให้กับโรงกลั่นเหล้าองุ่นที่ต้องการลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะได้
.
(3) เซลลูโลส (cellulose) พบมากในอาหารทั่วไป จึงง่ายต่อการเข้าถึงและมีราคาถูก สามารถนำมาทดแทนพลาสติกโพลิเมอร์ที่ผลิตจากปิโตรเคมี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลบาดแผล เช่น พลาสเตอร์ปิดแผล Hydrogel ที่สกัดจากเปลือกทุเรียน เป็นวัสดุทางชีวภาพ สามารถย่อยสลายได้และมีความยั่งยืน พืชผลทางการเกษตรและกากจากกระบวนการผลิตอาหารทะเลยังสามารถนำมาสกัดเซลลูโลสและไคโตซาน เพื่อนำไปผลิตวัสดุป้องกันบาดแผลและโครงสร้างเนื้อเยื่อ อย่างไรก็ตาม กากดังกล่าวยังไม่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย
.
กรมควบคุมมลพิษของไทยรายงานว่า ในปี 2560 ไทยมีขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัม/คน/ปี แต่ยังคงมีสัดส่วนในการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ไม่มากนัก เนื่องจากเทศบาลในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่มีระบบการแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถรีไซเคิลขยะอาหารได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ประเทศไทยที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่และก้าวหน้า และมีโรงงานผลิตและแปรรูปอาหารจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลจากขยะหรือกากอาหารเหลือใช้ (Food waste) เนื่องจากมีอุปทานที่เพียงพอที่สามารถนำเข้ากระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถใช้สำรวจข้อมูลด้านนวัตกรรมของสิงคโปร์ในการต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะสินค้าเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดจำนวนขยะอาหารแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์