แขวงจําปาสักมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของ สปป. ลาว โดยเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และการบริการ และเป็นประตูเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งไทย กัมพูชา และเวียดนาม ตลอดจนมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะแก่การทำการเกษตร โดยเฉพาะที่ราบสูงบอละเวน (Bolaven Plateau) ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร เป็นแหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงของประเทศ แขวงดังกล่าวยังมีความสำคัญด้านสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ น้ำตกหลี่ผี น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกตาดเยือง น้ำตกตาดฟาน และมรดกโลกปราสาทหินวัดพูจําปาสัก ทั้งนี้ รัฐบาล สปป. ลาว ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในแขวงจําปาสัก การส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์ โดยมีโครงการพัฒนาท่าเรือบกวังเต่า (Vang Tao Dry Port) และเร่งส่งเสริมการลงทุนที่มีศักยภาพของนักลงทุนต่างประเทศ โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงจําปาสักเมื่อปี 2558 ประกอบด้วย (1) เขตนิคมอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กปากเซ – ญี่ปุ่น (2) เขตนิคมอุตสาหกรรมจําปาสัก – ลาวบริการ (3) เขตเศรษฐกิจวังเต่า – โพนทอง (4) เขตเศรษฐกิจจําปานะคอน และ (5) เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน
.
สำหรับเขตเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ที่นักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ (1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน (Sithandone SEZ) ตั้งอยู่ที่เมืองโขง ก่อตั้งเมื่อปี 2561 บนพื้นที่ 61,537.5 ไร่ ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Sithandone Joint Development Co., Ltd. (STD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนลาวและจีน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การก่อสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกในเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนมีความคืบหน้า เช่น (1) โครงการก่อสร้างโรงแรมเมสเวดอล บริเวณริมแม่น้ำโขงใกล้กับน้ำตกคอนพะเพ็ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำโขงและเส้นทางภูมิทัศน์ซึ่งก่อสร้างสำเร็จแล้ว 1.2 กิโลเมตร (3) การก่อสร้างเส้นทางคอนกรีตรอบดอนโขง 43.5 กิโลเมตร และ (4) การก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำประปาสำหรับใช้ภายในเขตฯ
.
ในปี 2565 บริษัท STD มีแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและจ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดิน 6,250 ไร่ การก่อสร้างบ้านจัดสรร การพัฒนาเขตความร่วมมือด้านการเกษตร การก่อสร้างเขื่อนป้องกัน ตลิ่งแม่น้ำโขงเพิ่มเติม การปรับปรุงเขตการท่องเที่ยวน้ำตกคอนพะเพ็ง การก่อสร้างโรงแรมรูปแคนคู่สูง 238 เมตร และการสนับสนุนด้านการแพทย์และการศึกษาให้แก่ท้องถิ่น นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เสนอแผนการลงทุนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัลหนองนกเขียนภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีนและ ญี่ปุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และสำนักงานฐานข้อมูล ขนาดใหญ่
.
(2) เขตนิคมอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กปากเซ – ญี่ปุ่น (Pakse – Japan SME SEZ) ตั้งอยู่ระหว่างเมืองบาเจียงจะเลินสุกและเมืองปะทุมพอน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 บนพื้นที่ประมาณ 1,218.75 ไร่ ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Pakse – Japan SME SEZ Development Co., Ltd. (PJSEZ) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาล สปป. ลาว และบริษัทเอกชนลาว ปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาลงทุนแล้ว 21 บริษัท ประกอบด้วย (1) บริษัทด้านอุตสาหกรรม 13 แห่ง และ (2) บริษัทด้านการบริการ 8 แห่ง ทุนจดทะเบียน 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการลงทุนรวม 75.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ บริษัท Lao Ochi Cosmetic Brush Co., Ltd. (ผลิตแปรงแต่งหน้า) บริษัท Takane Electrics Lao Co., Ltd. (ผลิตชุดสายไฟ Wire Harness) บริษัท Daiwa Harness Lao Co., Ltd. (ผลิตชุดสายไฟ Wire Harness) และบริษัท Sanko Lao Co., Ltd. (ผลิตภัณฑ์คอนกรีต) โดยในปี 2564 เขตนิคมอุตสาหกรรมฯ ส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ผ่านไทยไปยังญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมมูลค่า 9.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเดือนมกราคม 2565 บริษัท Ryuseki Corporation ผู้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและขายส่งน้ำมันที่เกาะโอกินาวามากว่า 70 ปี แสดงความสนใจลงทุนเนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของแขวงจําปาสัก
.
จากการที่เขต SEZ ในแขวงจำปาสักพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินั้น เป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดให้จีนและญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ดังนั้น ภาคเอกชนไทยที่ลงทุนใน EEC และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาจขยายการลงทุนร่วมกับ สปป. ลาว ในครั้งนี้ นอกจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันแล้ว ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้นจะส่งผลให้ไทยสามารถกระชับความสัมพันธ์ในเขต SEZ ร่วมกับ สปป. ลาว และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์