ภาคบริการทางการเงินสิงคโปร์
ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภาคบริการทางการเงินของสิงคโปร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 เติบโตร้อยละ 8 ช่วยสร้างงาน 2,000 ตำแหน่งแก่คนชาติและคนที่ถือสัญชาติสิงคโปร์ ภาคการเงินของสิงคโปร์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะช่วยสร้างงานมากขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาควิสาหกิจและองค์กรธุรกิจจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีความไม่เสถียรจากปัจจัยต่าง ๆ
.
สิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมอยู่เสมอเพื่อพัฒนาภาคบริการทางการเงินของสิงคโปร์ ทั้งด้านการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลก และการรักษาสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกและภูมิภาค ตามแผนงาน ได้แก่ (1) แผนงานการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Finance Services Industry Transformation Roadmap) ซึ่งธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 โดยให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ โครงการยกระดับทักษะอาชีพ และการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี (2) แผนปฏิบัติการทางการเงินสีเขียว (Green Finance Action Plan) ซึ่ง MAS ประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2563 เน้นกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ 1) การส่งเสริมความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของภาคการเงิน 2) การพัฒนาตลาดและการแก้ปัญหาเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 3) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และ 4) การให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรในอุตสาหกรรม
.
การบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งในสิงคโปร์
การบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่ง (Asset and Wealth Management) เป็นส่วนสำคัญของภาคบริการทางการเงิน และเป็นพื้นฐานของการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินโลก (Global Financial Node) ของสิงคโปร์ การบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งในเอเชียมีมูลค่ามหาศาล นักลงทุนจากทั่วโลกมีความเชื่อมั่นในสิงคโปร์ และได้ใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการแสวงหาโอกาสด้านการเงิน การจัดตั้งกองทุน และความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
.
สิงคโปร์ได้จัดตั้งสถาบันบริหารความมั่งคั่งขึ้นเมื่อปี 2546 โดยมีการบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งไม่มากนัก สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Asset under management – AUM) มีมูลค่า 465,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่ในปัจจุบัน AUM ทั้งหมดในสิงคโปร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 4,700,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่า รวมทั้งมีสมาชิกใน ecosystem ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น (1) ผู้จัดการแบบดั้งเดิม (2) Private equity การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (3) Venture capital กองทุนที่เข้าไปลงทุนในบริษัทเอกชนตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งกิจการ (4) Hedge funds กองทุนที่มีความยึดหยุ่นในการลงทุนสูง สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ประเภทใดก็ได้ และ (5) Family offices การบริหารความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ของเจ้าของธุรกิจครอบครัว
.
สถาบันบริหารความมั่งคั่งสิงคโปร์
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ (Government of Singapore Investment Corporation – GIC) และบริษัท Temasek ร่วมกันก่อตั้งสถาบันบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management Institute – WMI) เมื่อปี 2546 เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเงิน และเป็นผู้นำการฝึกอบรมด้านการบริหารความมั่งคั่งและทรัพย์สิน เฉพาะช่วงปี 2562 – 2564 สถาบัน WMI ได้ให้บริการฝึกอบรมผู้เข้าร่วมจากภาคธนาคารเอกชนมากกว่า 8,000 ราย ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถและสนับสนุนลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และได้จัดทำโครงการเร่งการจัดการสินทรัพย์ (Asset Management Accelerator Programme) เพื่อสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม โดยมีหลักสูตรเสริมทักษะที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการธนาคารและการเงินสิงคโปร์ (The Institute of Banking & Finance Singapore – IBF) ด้วย
.
โดยผู้บริหาร WMI กล่าวว่า ใน 3 ปีข้างหน้า สถาบันฯ วางเป้าหมายที่จะฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักลงทุน 1,000 คนในด้านการเงินที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG) โดยเฉพาะการอบรมแก่ผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนทั้งด้าน family offices การจัดการสินทรัพย์ และ ธนาคารเอกชน
.
ในบริบทของภูมิภาคเอเชีย ที่กลุ่มชนชั้นกลางกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้ความมั่งคั่งของภาคเอกชนในเอเชียเติบโตได้รวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น ประเทศไทยสามารถพิจารณาวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากการจัดทำสถาบันหรือหลักสูตรอบรมสำหรับนักลงทุนและบุคลากรสายงานด้านการเงิน และการบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งในไทย โดยอาจเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้กับสิงคโปร์เพื่อพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญ อันนำไปสู่การพัฒนาความมั่งคั่งของภาคประชาชน ภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์